ศีลธรรม จริยธรรม ในงานศิลปะและศิลปิน

ศีลธรรม จริยธรรม ในงานศิลปะและศิลปิน โดย กำจร สุนพงษ์ศรี
เมื่อราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียนคนสำคัญได้จุดประกายประเด็นเป้าหมายสูงสุดของงานศิลปะอยู่ที่ใด เขาได้เสนอศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน และเพื่อชนชั้นกรรมาชีพอย่างแหลมคมก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงต่อวงการศิลปะอย่างขนานใหญ่

แม้ว่าเขา จิตร ภูมิศักดิ์ อาจไม่ใช่คนแรกที่เสนอแนวทางนี้ แต่เขาก็คือผู้ที่ทำให้แนวทางนี้ชัดเจนแจ่มกระจ่างจนกลายเป็นบรรทัดฐานหนึ่งที่อยู่ในดุลยพินิจของผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมในปัจจุบัน

เวลาได้ล่วงเลยมานาน นานพอที่จะพิสูจน์ว่า ข้อคิดข้อเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ อันเปี่ยมล้นด้วยมนุษยธรรมนั้น ยังเป็นปัญหาที่ผูกพันถึงความรับผิดชอบกับจิตสำนึกที่ศิลปินมีพันธะต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ผิดและแตกต่างกันบ้างที่กาละและเทศะ ได้ขยับขยายตนเองออกไปจากการมุ่งโค่นล้มพวกเผด็จการ พวกศักดินา และพวกล่าเมืองขึ้นมาเป็นการเรียกร้องหาความยุติธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อยไปถึงปัญหาร้อยแปดที่ทำให้คนจำนวนมากของสังคมต้องยากไร้ตกอยู่ในสภาพยากเข็ญ จนทำให้ดูเหมือนสภาพสังคมมีเพียงสองมุมคือ มุมที่มืดมิดกับมุมอันสว่างเจิดจ้าเท่านั้น …

… คำว่า จริยา จริยธรรม จริยศาสตร์ จรรยาบรรณธรรม ศีล ศีลธรรม ยุติธรรม ฯลฯ จึงมักพบเห็นเสมอ ถึงการเรียกร้อง การแสวงหาและความต้องการที่เกิดขึ้นในงานศิลปกรรม คงเป็นการยากที่จะหยุดยื้อรั้งให้ศิลปกรรมเป็นเพียงเครื่องมือของศาสนาและการเมืองเหมือนเมื่อครั้งหนึ่งในอดีตกาล ที่เหล่านักบวชในศาสนาต่างๆ ประพฤติปฏิบัติห่างจากพระคัมภีร์ กับนักการเมืองที่อ้างตนเป็นฝ่ายประชาชน ครั้นเมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ กลับจำกัดเสรีภาพสำคัญของคนในเรื่องของจินตนาการ โดยเฉพาะเสรีภาพในการสร้างสรรค์ศิลปกรรม

ลัทธิปัจเจกนิยม ( Individualism) ได้ฝังรากลึกอย่างแน่นแฟ้นจนยากที่ใครจะมาชี้นิ้วบังคับได้เสียแล้ว ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายต่อการสร้างงานทั้งเพื่อศาสนา เพื่อรัฐ เพื่ออุดมคติทางการเมือง หรือเพื่อเงินตราของเหล่านายทุน พวกเขาพากันเข้าสู่การสนองตอบตามอารมณ์ของตนเป็นสำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ จากรายงานของ น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจได้รายงานการแสดงศิลปะของศิลปินสาวคนหนึ่ง เธอได้แสดงงานด้วยวิธีการแสดงประกอบโดยตัวเธอเองออกมาแสดงด้วยการเปลื้องผ้าทีละชิ้นจนร่างเปลือยเปล่า มีเพียงแสงสีและฉากช่วยให้บรรยากาศดูดีมีระดับ

มันเป็นการแสดงที่ท้าทายกฎระเบียบศีลธรรม มาตรฐานทางศีลธรรม และอุดมคติทาง ศีลธรรม ที่สังคมไทยยึดมั่นอย่างรุนแรง เธอต้องการอะไร ความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นขบถ ท้าทายต่อกฎระเบียบและมาตรการต่างๆที่สังคมไทยมีต่อเพศหญิง แสดงถึงอิสรภาพ และเสรีภาพของลัทธิปัจเจกนิยมที่เธอมีอย่างเพียบพร้อม และเป็นอะไรอีกหลายอย่าง

ปัญหาต่อมาที่น่าขบคิดก็คือในมโนทัศน์เดียวกันนี้ เธอไม่มีทางเลือกอื่นอีกหรือ เพราะกระบวนการสร้างงานศิลปะนั้นมีให้เลือกหลากหลายกระบวนการ และในวิธีนั้นดูเหมือนจะเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าที่ต้องแสดงด้วยตัวเองเสียอีก

ยิ่งปัญหาสังคมไทยในช่วงระยะเวลานี้กำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤติ เด็กหญิงตัวน้อยๆถูกข่มเหงอยู่ทั่วไป ปัญหากามารมณ์กำลังปะทุอย่างรุนแรง ซึ่งแต่ละข่าวล้วนก่อให้เกิดความสลดใจ ประเด็นความล้มละลายหายนะของมาตรฐานทางศีลธรรมตกต่ำถึงขีดสุด นักวิชาการทุกสาขาที่ห่วงใยสภาพการณ์นี้ต่างชี้ชัดไปถึงความบกพร่องทางการศึกษา ฐานะที่ยากไร้ ยาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิตบกพร่องและการยั่วยุของสื่อต่างๆที่มุ่งเน้นการปลุกเร้ากามารมณ์ที่ระบาดอยู่ทั่วไป ล้วนเป็นมูลเหตุให้อาชญากรรมประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างมากมาย

ถ้าเราเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันต์ ฟรอยด์เข้าพิเคราะห์ในหลักที่ว่าบุคลิกภาพของคนประกอบด้วยพลัง 3 ส่วนคือ

1. อัตตา (ego)
2. อภิอัตตา ( super ego)
3. อิด (Id)

เราก็คงไม่แปลกใจที่ทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลสูงมากกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะถ้าหากไม่มีพลังทั้ง 3 อย่างแรงเพียงพอ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะผู้นั้นย่อมยากที่จะบรรลุถึงตำแหน่งของศิลปินได้ คือ หมายถึงเขาจะอ่อนด้อยในเรื่องของพลังแห่งการสำแดงออกให้พวยพุ่งออกมาให้ประจักษ์ได้ในงานของตน และฟรอยด์ได้เน้นให้ระมัดระวังเจ้า “อิด” นี้ เพราะมันคืออำนาจใฝ่ต่ำครอบครองอยู่ ถ้าเป็นคนสุขภาพจิตดีก็สามารถเก็บกดเอาไว้ได้ ที่ถูกกดไว้คือจิตไร้สำนึก ศิลปินผู้เฉลียวฉลาด โดยเฉพาะพวกศิลปินลัทธิเหนือจริง ( Surrealism) รู้จักที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในงานของตน ทำสิ่งต่ำช้าให้บังเกิดเป็นความดีงาม เป็นเครื่องมือนำผู้ชมไปสู่ความฝันแห่ง จินตภาพอันไร้ขอบเขต ศิลปินก็คือคนทั่วไปที่อิดครอบครองอยู่ และดูเหมือนจะมากกว่าสามัญชนเสียด้วยซ้ำไปเพราะโดยอาชีพแล้วเขาคือผู้ขายความฝัน เขาจึงเป็นบุคคลที่น่าสะพรึงกลัวถ้าหากขาดจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ โดยเฉพาะความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม

ถ้าจะว่าคนไทยเป็นคนมักมากในกามคุณก็คงเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป เพราะเรื่องนี้คงเป็นเรื่องสามัญทั่วไปที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ปรากฏอยู่ในทุกชาติทุกภาษาทั่วโลกในสังคม อารยชน โดยเฉพาะชาวตะวันตกนั้น มาตรการต่างๆที่ใช้กำราบอาชญากรเป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล ซึ่งทำให้ปัญหามาตรฐานศิลปะอนาจารของชาวตะวันตกย่อมแตกต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิงไปด้วย

มีภาพวาดของ ” กูเบต์” จิตรกรคนสำคัญของฝรั่งเศสในสกุลลัทธิสัจนิยมอยู่ภาพหนึ่ง เป็นภาพสาวเปลือยนอนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของลับอย่างเปิดเผย เขาวาดเหมือนจริงราวภาพถ่าย ภาพนี้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดอร์เซ กรุงปารีส เพิ่งนำมาติดตั้งแสดงเมื่อไม่นานมานี้เอง ภาพนี้ปกปิดเก็บไว้ร่วมศตวรรษ สาเหตุที่เก็บไว้เพราะมาตรฐานทางศีลธรรมในขณะนั้นสูงมาก ถือว่าเป็นภาพอนาจาร แต่ในปัจจุบันภาพนี้สามารถแสดงได้เพราะเป็นงานศิลปะ เนื่องจากภาพถ่ายในนิตยสารอื่นๆที่เป็นประเภทปลุกใจล้วนเลวร้ายกว่าทั้งสิ้น และในทำนองเดียวกันภาพนี้หากนำมาแสดงในเมืองไทยน่าจะเข้าข่ายภาพลามกอนาจาร นี่แหละคือเส้นกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมของแต่ละชาติ

ผมคงไม่ต้องให้ความเห็นสำหรับการแสดงของศิลปินที่กล้าเปลือยต่อสาธารณชนว่าเป็นอย่างไร ทั้งที่ใจชื่นชมความเป็นขบถของเธอ นับถือความใจถึงและเด็ดเดี่ยวในอุดมการณ์ แต่ดูเหมือนกาละและเทศะคงจะไม่มาบรรจบกันตอนนี้ ต้องรอราวอีกศตวรรษหนึ่งกระมัง จนกว่าคนในชาติจะพร้อม เส้นมาตรฐานทางศีลธรรมจะได้ลดระดับลงกว่านี้ …

ที่มา: กำจร สุนพงษ์ศรี. “ศีลธรรม จริยธรรม ในงานศิลปะและศิลปิน.” กรุงเทพธุรกิจ. 16 กันยายน 2539.

You may also like...