ศิลปกรรมชาวบ้านการสำรวจและการวิจารณ์อย่างย่อ โดย แสงอรุณ รัตกสิกร
สิ่งที่คนในศตวรรษที่ 20 ค้นพบว่าเป็นงานศิลปะที่มีค่าและยกย่อง ได้แก่ศิลปะของชนอนารยะ ( Primitive Art) งานศิลปกรรมของคนเยาว์วัย ( Children’s Art) และงานศิลปกรรมชาวบ้าน ( Folk Art)
ผลงานของศิลปกรรมสามประเภทนี้ ให้ผลโดยตรงและจริงใจต่อผู้ได้พบ ถึงความบริสุทธิ์ สะอาด และตรงต่อความตั้งใจของผู้ผลิต โดยปราศจากการล้อมกรอบของทฤษฎีใดๆแสดงออกซึ่งจิตอันเสรีและพลังของความตั้งใจที่จะผลักเอาความรู้สึก ความคิดของตนออกมาโดยตรงไม่บิดเบือน
งานศิลปกรรมชาวบ้าน ( Folk Art) พูดโดยตรงแล้วมีจุดประสงค์ที่ทำขึ้นเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักใหญ่และสำคัญที่สุด การประดับประดาตกแต่งเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลังและไม่ว่างานชนิดใดก็ตาม เราจะพบว่าความปรารถนาที่จะให้งานที่ผลิตออกมาสนองประโยชน์ใช้สอยได้เต็มที่จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดเสมอ มีบางครั้งที่งานประเภทนี้ได้ปรับปรุงตัวเองถึงขนาด แล้วก้าวเลยเถิดเข้าไปสู่การตกแต่งประดับประดาจนตัวเองไร้ค่าและหมดไปจากความเป็นศิลปกรรมชาวบ้านไปก็มี อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะพบในงานศิลปกรรมชาวบ้านคือ ผลงานที่ทำขึ้นโดยปราศจากยึดตัวเองเป็นใหญ่ ดังเช่นงานของศิลปินอาชีพ (ปิกาสโซ่ ฟ.ล.ไรท์-คริสเตียน ดิออร์) ผู้ผลิตมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเห็นงานของตนสำเร็จออกมาตามปรารถนา แต่ไม่เคยคิดเลยว่า จะถูกสังคมจดจำตน และยกย่องฐานเป็นผู้ผลิตงานชิ้นนั้นๆ ความถ่อมตัวอันละเมียดละไม เป็นคุณสมบัติอันติดประจำกับงานประเภทนี้อยู่เสมอ ผู้ดูจะวางอารมณ์ของตนได้เป็นกลาง ปราศจากการเกาะเกี่ยวกับนามของผู้กระทำ และทั้งผู้ผลิตและผู้เสพผลิตผลนั้น ก็บรรลุถึงความมีสัจจะในผลงานอย่างเต็มที่ ( ปราศจาก Self Conscious และ Sophistication ของตน)
ประเทศที่ตั้งในเขตหนาว เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือประเทศในยุโรปภาคเหนือ ในระยะเวลาอันหนาวเย็นของฤดูเหมันต์ ชาวบ้านจำต้องเก็บตัวอยู่ในที่พัก และในระยะเวลาดังกล่าวนี้เองที่งานศิลปะประเภทนี้ได้ผลิตขึ้น ในประเทศร้อนอย่างเรา เวลาว่างคือในระยะเวลาที่การเก็บเกี่ยวยังมาไม่ถึง คนไทยอย่างตาสี ยายมา ของเรา ได้ใช้ชีวิตอันเอื่อยสบาย ผลิตงานที่จะนำไปใช้ในครัวเรือนของตนขึ้นด้วยวัสดุที่ใกล้มือ และด้วยกรรมวิธีอันฉลาดที่ทำให้วัสดุที่หามาได้ ให้ผลแก่ตนมากที่สุด และกินแรงงานตนน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลนี้เอง แต่ละท้องถิ่น และชุมชน จึงมีงานที่แตกต่างกันออกไปตามผลิตภัณฑ์ที่ธรรมชาติในท้องถิ่นอำนวยให้ เนื่องจากการคมนาคมยังไม่เจริญถึงขนาด จึงทำให้ศิลปกรรมชาวบ้านแต่ละภาคของประเทศถูกแยกออกจากกัน และปรับปรุงวิธีการออกแบบของตนขึ้นโดยลำพังตนเองก็ว่าได้ เมืองที่เป็นเมืองหลวงและเมืองท่าที่มีการติดต่อกับต่างประเทศเป็นประจำ งานศิลปกรรมชาวบ้านจะขาดคุณสมบัติดังกล่าวเพราะชาวพื้นบ้านจะนำวิธีการและความคิดที่ได้พบเห็นจากถิ่นอื่นมาใช้ปะปนกับของดั้งเดิมของตน หรือที่ร้ายคือละทิ้งของตัวเองเสียสิ้นเชิง หาความสะดวกโดยการซื้อของจากชาติอื่นใช้ ซึ่งผลนี้เป็นผลที่จังหวัดใหญ่ๆเช่นกรุงเทพฯประสบอยู่ในครั้งก่อน และยังสืบมาจนปัจจุบันนี้ จานเครื่องถ้วยชามไทยหยุดชะงักลงตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็เพราะเหตุดังกล่าวนี้เอง ครั้นเมื่อเกิดไหวตัวและด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจบังคับให้เราทำขึ้นใช้เองภายในบ้านเรา อิทธิพลจากงานต่างชาติซึ่งเข้ามาอยู่ในหัวคิดของเรานับร้อยๆปีก็แสดงออก ทำให้ขาดลักษณะประจำท้องถิ่นของเราไป เช่น โอ่งลายมังกรเคลือบจากราชบุรี เป็นต้น เป็นการลอกจากจีนมาเต็มที่ทีเดียว แต่ในท้องที่ที่ห่างไกลออกไปจากเมืองหลวงเช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดร เชียงราย เหล่านี้ งานศิลปกรรมชาวบ้านคงได้โอกาสเพาะตัวเองและปรับปรุงตัวเองต่อไป จนกระทั่งการคมนาคมแผนปัจจุบันขยายตัวขึ้นไปจากภาคกลาง งานชาวบ้านอันงดงามก็ค่อยๆถอยหายไปทุกทีๆ ปัจจุบันนี้เรียกว่าได้ถึงขีดอันตราย และถ้าไม่รีบบำรุงรักษาก็คงจะสูญไปในที่สุด
ขอให้ดูงานพื้นเมืองเชียงใหม่เป็นตัวอย่าง จะพบว่าความมีชีวิตชีวาของงานชาวบ้านเกือบจะหมดไปแล้ว งานที่ทำขึ้นทำอย่างลวกและปราศจากความเข้าใจในจุดมุ่งหมายอันแท้จริงของงาน อาจจะเป็นเพราะว่าจำจะต้องผลิตแข่งกับสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งขึ้นไปจากกรุงเทพฯ หรือรสนิยมของชาวบ้านท้องถิ่นนั้นเปลี่ยน โดยคิดว่าของจากโรงงานอุตสาหกรรมถูกกว่าและแปลกตากว่า (ซึ่งความเปลี่ยนรสนิยมแบบนี้ เกิดขึ้นทุกแห่งในโลกและในงานศิลปะทุกแขนง) เราจะพบว่าที่เชียงใหม่ คนโทใส่น้ำดินเผาของชาวพื้นเมืองเสื่อมความนิยมลง และผู้ผลิตเองบางครั้งก็หลงใช้รูปทรงของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกับงานแบบชาวบ้านของตน นับเป็นการเสื่อมลงของทั้งสองฝ่าย เครื่องรักมีลวดลายที่หยาบลงและฝีมือไม่อาจเทียมได้กับงานเมื่อ 50 ปีก่อน
งานทอผ้าของพื้นเมืองเพิ่งจะได้รับการปรับปรุง และส่งออกตลาดต่างประเทศได้บ้าง คิดว่าคงจะอยู่ไปได้ เท่าที่ทราบในยุโรปและอเมริกา งานศิลปกรรมชาวบ้านเกือบจะเรียกได้ว่าจะหมดสิ้นลงแล้ว ประเทศในเอเชียยังคงมีคุณภาพและปริมาณอยู่มากกว่าที่อื่นในโลก เพราะความเจริญทางเครื่องจักรเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง อะไรที่จัดเข้าอยู่ในงานศิลปกรรมชาวบ้าน และอะไรไม่ใช่ ข้อนี้พอจะแยกหัวข้อออกได้กว้างๆดังนี้
1) เป็นงานที่ผู้ทำทำขึ้นเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยโดยตรง เป็นหลักที่สำคัญที่สุด คือเป็น Prime Motive
2) ทำขึ้นโดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้านใช้ ไม่ใช่งานทำพิเศษของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
3) ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และทำขึ้นด้วยวิธีการที่สอดคล้องไปกับธรรมเนียมนิยมของท้องถิ่น เป็นงานที่แสดงการแก้ปัญหาที่ตรงไปยังจุดประสงค์ที่สุด และทำขึ้นด้วยแรงคนเป็นใหญ่
ในข้อที่ 1 ขอยกตัวอย่างดังนี้ หม้อดินเผาใช้หุงข้าวของชาวบ้านไทยเรา เป็นงานที่ทำขึ้นตรงต่อจุดประสงค์ในการหุงข้าวโดยตรง ขอให้สังเกตว่า รูปทรงอันสะอาดตาและบริสุทธิ์ของหม้อข้าว ออกมาจากหน้าที่การใช้สอยอย่างไม่มีที่ติได้ หม้อข้าวดินเผาบางที่สุดเพื่อจะรับความร้อนได้เร็ว แต่ทว่าก็แข็งแรงที่สุดเท่าที่วัสดุจะอำนวยให้ เหตุผลสองประการคือ ทางจุดประสงค์ที่ใช้สอยกับวัสดุที่ใช้ ขึ้นมาพบกันอย่างสมบูรณ์รูปทรงที่ปรากฏออกมา เป็นรูปทรงที่เรียกได้ว่า มีสัจจะ ไม่บิดเบือนไปจากความจริง คือมิได้เพิ่มเติมลวดลายเข้าไปจนฟุ่มเฟือย และไร้ประโยชน์
ทีนี้ขอให้พิจารณาดู ตลุ่มฝังมุกบ้าง เราจะพบว่าถึงแม้ว่า ตลุ่มนั้นจะใช้ใส่ของได้ตามความประสงค์ก็จริง แต่ทว่าการประดับประดามุกนั้น ได้เป็นสิ่งสำคัญกว่าเสียแล้ว เมื่อบุคคลสัมผัสตลุ่ม สิ่งแรกที่ประทับใจคือฝีมือประดับและเลื่อยตัวมุก ความตรงออกมาของหน้าที่ใช้สอยเป็นรองลงไป หม้อข้าวดินเผา เป็นของใช้ที่ทุกครัวเรือนมี (ราคาถูก ใช้ประโยชนได้สมบูรณ์ ทุกคนหาไว้เป็นสมบัติได้) แต่ตลุ่มมุก เป็นของที่คนมีอันจะกินเท่านั้นจะหาได้ เท่าที่จำได้ ในเวลาที่เงิน 30 บาทใช้เลี้ยงชีพได้ตลอดเดือน ตลุ่มมุกฝีมือดีพอใช้ มีราคา 80 ถึง 100 บาท
สำหรับข้อที่ 3 ขอให้ดูจากกลักใส่ข้าวของชาวไทยภาคเหนือ เราจะพบว่าการนำเอาไม้ไผ่ซึ่งขึ้นอยู่ดาษดื่นในท้องถิ่นนั้นมาใช้อย่างได้ผลที่สุด สะดวกแก่การนำออกไปในที่อื่น (สะพายไหล่) มิดชิดในการเก็บข้าวให้อยู่ได้โดยไม่แห้งตัวเร็ว ไทยภาคกลางไม่มีวิธีกินข้าวแบบภาคเหนือ แต่วัสดุ เช่นใบตอง ใบบัว เป็นของใกล้มือ จึงปรับปรุงการห่อด้วยใบไม้ขึ้นมาจนสมบูรณ์ ขอให้ดูการห่อขนมด้วยใบตอง และการเย็บกระทงใส่อาหารของไทยภาคกลาง จะพบว่าได้มาถึงขั้นสมบูรณ์แบบแล้ว เช่นเดียวกับบ้านชาวนา วัสดุที่ใช้มุงหลังคา จะบอกให้เราทราบได้ทันทีว่าท้องถิ่นนั้นมีพืชพันธุ์อะไรบ้าง และมีดินฟ้าอากาศอย่างไร ภาคกลางใช้จากเป็นหลัก เพราะน้ำมีตลอดปี แต่ภาคเหนือ คือใบตองตึงและอีสานคือแฝก หญ้าคา
ความงดงามของของที่ผลิตขึ้นด้วยแรงฝีมือของคนเป็นของที่มีเสน่ห์กว่าเครื่องจักร ( งามคนละแบบ) ในของที่เป็นชนิดเดียวกันเราจะพบว่า ย่อมไม่เหมือนกันในเนื้อวัสดุและต้องให้เหมือนกันมากที่สุด เพราะผลในทางประหยัดในการผลิตและจำหน่ายมาบังคับ
งานศิลปกรรมชาวบ้าน พอจะยกออกเป็นชนิดได้ดังนี้
1. เครื่องถ้วยชามและเครื่องเคลือบดินเผา
2. งานจักสาน
3. ตุ๊กตา
4. งาน ถัก ทอ
5. งานไม้ โลหะ
6. งานเขียน ปั้น สลัก
เครื่องถ้วยชามและเครื่องเคลือบดินเผาของไทยเรานั้น เป็นที่น่าเสียดายที่เราหยุดการกระทำเมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ งานในปัจจุบันที่ปรากฏในท้องตลาดเป็นงานที่ได้ลอกเลียนและรับความคิดและกรรมวิธีมาจากชาติอื่นโดยเฉพาะจีน ข้อนี้เป็นเพราะเราชอบซื้อของจากต่างชาติมากไปนั่นเอง แต่ในบางท้องที่ที่กันดารและการคมนาคมไม่สะดวกได้ปรับปรุงงานด้านนี้ขึ้นมาอย่างควรชมเชย จังหวัดนครราชสีมาได้พบที่ใส่น้ำกินซึ่งมีรูปทรงอันบริสุทธิ์และงดงามจนเรียกได้ว่า เข้าขั้นมาตรฐานงานศิลปกรรมของโลกได้ ดินที่ใช่เป็นดินที่ธรรมชาติผสมให้เสร็จจากแม่น้ำใกล้ๆที่ตั้งเตา มีคุณสมบัติดีและเมื่อเผาไฟสูง จะปรากฏว่าแร่ธาตุที่ปนอยู่ในดินไหลออกมาเคลือบผิว เป็นสีโลหะงดงามมาก
… ทำให้ได้ความรู้สึกที่แข็งแกร่ง และงามอย่างธรรมชาติ งานบางชิ้นที่เผาไฟต่ำ จะปรากฏสีแบบเดียวกับหม้อดินเผาธรรมดาของภาคลาง การแต่งลวดลายทำง่ายๆและไม่มากจนทำลายรูปทรง ขอให้สังเกตดูการออกแบบที่ดีตอนปากเหยือก มีจงอยที่รินโดยเฉพาะ และปากที่ผายออกเพื่อบังคับน้ำขณะรินให้รวมตัวเข้าและเวลาเดียวกันใช้เป็นที่จับเมื่อหยิบยก ถ้าหากผสมดินให้ถูกสัดส่วน ดินพื้นบ้านแห่งนี้จะทำให้งานดีขึ้นอีกได้ โดยสามารถทำให้ผนังบางลงได้อีก และรูปทรงที่แบนกว่าที่เห็น ซึ่งจะทำให้ได้ทรงที่งามอีกแบบหนึ่ง …
… งานจัก-สาน ของไทยเรา ดูจะก้าวหน้ามากกว่างานใดๆ ในประเภทศิลปกรรมชาวบ้านและอาจอวดได้ว่าไม่ได้น้อยหน้าใครเลยก็ได้ ชาวบ้านไทยเราได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาในงานประเภทนี้ และได้ปรับปรุงฝีมือจนถึงขั้นมาตรฐานของโลกทีเดียว ตะกร้ากระบุงใส่ของของไทยเป็นตัวอย่างที่เราทุกคนรู้จักและขึ้นใจดี มีความแข็งแรงทนทานมาก ไม้ไผ่ที่ใช้บางแห่งรมควัน เพื่อให้ทนทานจากแมลงทำลาย เมื่อนำมาจักตอกแล้วสานขึ้นรูป ความดำที่เกิดจากการรมควัน ปรากฏออกมาได้งดงามมาก และไม่จำเป็นจะต้องย้อมสีอะไรอีก งานถักหวายก็เช่นเดียวกัน ทำได้อย่างประณีต แต่วัสดุประเภทนี้หาได้ไม่งายนัก จึงมีปริมาณน้อยกว่าไม้ไผ่มาก เครื่องมือดักปลาของไทยภาคกลาง ทำได้งดงามเป็นพิเศษ จนเชื่อว่าคงไม่อาจปรับปรุงต่อไปได้อีกแล้ว เพราะถึงขีดสุดของงานมาแต่ศตวรรษก่อนๆ งอบไทยเป็นตัวอย่างทีดี แสดงให้เห็นการเลือกหาวัสดุที่เบามาใช้และความฉลาดในการทำส่วนที่ครอบยึดศรีษะใส่ยืดหยุ่นได้ตามขนาดศีรษะของบุคคล งอบของจีนฮ่องกง
… จะเห็นว่ามีรูปงามมาก แต่วัสดุสู้เราไม่ได้คือใช้ใบไผ่แทนที่ใบลานของเรา ทำให้ต้องสานไม้ไผ่ประกบอีกที เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ศีรษะขึ้นอีก ที่ครอบยึดศีรษะก็แข็งเกินไป ไม่ยืดหยุ่นได้เช่นของเรา งานเครื่องเขินของไทยภาคเหนือ ควรจะจัดว่าอยู่ในประเภทจักสานได้ เพราะการขึ้นรูปเป็นไปเช่นเดียวกับการจักสานอื่นๆ เราใช้ไม้ไผ่สานเป็นโครงแล้วลงรักทับอีกที ขัดแล้วจึงเขียนลาย เครื่องเขินไทยเราเบากว่าญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเขาใช้ไม้กลึงทั้งแท่งเป็นที่รองรัก พูดถึงฝีมือช่างของเรานับว่าอยู่ในขั้นดี แค่ความก้าวหน้าในเรื่องปรับปรุงคุณภาพของรัก สู้ญี่ปุ่นเขาไม่ได้
ตุ๊กตา มีไม่มากและไม่กว้างขวางเช่นญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติที่มีตุ๊กตาต่างๆและปรับปรุงศิลปะประเภทนี้ดีที่สุดในโลก ตุ๊กตาไทยเราที่อยู่ตามศาลพระภูมินั้น เป็นงานทำขึ้นเพื่อใช้เฉพาะที่มากกว่าเด็กจะมาเล่นได้ และมีอยู่ไม่กี่ชนิด แต่ถึงกระนั้นก็น่าดูในข้อที่ว่า เป็นงานที่ออกมาอย่างตรงและง่ายแบบศิลปะของพวกคนป่า การใช้สีใช้อย่างแรงและทำอย่างคล่อง ส่วนมากเป็นดินเผาและทาสีทับกันอีกที เพราะศาลอยู่ในที่ที่ถูกแดดฝนตลอดเวลา งานตุ๊กตาไทยเรื่องพระอภัยมณีที่แสดงรูปไว้ จะถือว่าเป็นศิลปะชาวบ้านก็ไม่ถนัดนัก เพราะจุดประสงค์ดูเหมือนจะเอาไว้ขายพวกฝรั่งมากกว่า แต่ผู้ทำเป็นประเภทที่ทำตุ๊กตาศาลพระภูมิ จึงมีลักษณะแบบตุ๊กตาศาล ซึ่งให้ความประทับใจได้ดีพอใช้ ตุ๊กตาประเภท Costume Doll ของเราที่มีผู้ประดิษฐ์ขาย ยังห่างไกลจากมาตรฐานตุ๊กตาศิลปะมากแบบที่ใช้เป็นของญี่ปุ่น (ใบหน้า) และยังไม่มีลักษณะประจำชาติได้เท่าเทียมกับตุ๊กตาศาลพระภูมิ ปลาตะเพียน ที่ใช้แขวนล่อเด็กอ่อนนอนเปล นับว่าทำได้ดีในรูปทรง และการออกแบบแต่น่าเสียดายที่ว่า การให้สีเป็นสีที่ไม่เข้ากับวัสดุเช่น ใบลาน นานๆไปสีล่อนหลุดออกและให้กลิ่นแบบสีวิทยาศาสตร์ นับว่าขัดๆกันอยู่พิกล บางช่างเอาสีบรอนซ์ใส่เข้าไปทำให้หมดคุณสมบัติไทยไปเลย
การถัก-ทอ มีน้อยลงมาก เพราะผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมล้นเข้าสู่ตลาดอย่างเร็วและราคาถูก ทั้งทนทานในการใช้มาก ศิลปะประเภทนี้จึงเสื่อมลงอย่างเร็ว ที่เหลือรอดก็มีประเภทผ้าไหมไทย ซึ่งทำตลาดได้ในต่างประเทศ จึงประคองตัวอยู่ได้ ที่อำเภอปักธงไชย นครราชสีมา มีวิธีการย้อมไหม เพื่อนำมาทอเป็นลวดลาย แบบมัดหมี่ ดูเหมือนจะเป็นแห่งเดียวในประเทศเราที่ทำเช่นนั้น การทอเสื่อจันทบุรีเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ขึ้นหน้าที่สุดจากจังหวัดของทะเลภาคตะวันออก แต่ดูเหมือนจะหยุดการปรับปรุงวิธีการทำให้ดีขึ้นมานานแล้ว เสื่อกกจากอำเภอสูงเนิน นครราชสีมาเป็นตัวอย่างอันแท้จริงของศิลปกรรมชาวบ้านประเภทเสื่อ เราจะพบว่าขนาดและวิธีทำขึ้นอยู่กับ ต้นกก ที่ขึ้นอยู่ทั่วๆไป และความอ่อนตัวของกกขณะสาน ไม่อาจทำลวดลายได้ เพราะกกไม่ย้อมสี แต่ทว่าวิธีการแบบนี้กลับแสดงความจริงใจมากที่สุด
งานไม้ -โลหะ ไทยเราคุ้นกับไม้มากกว่าโลหะ เพราะเป็นประเทศที่มีไม้มากที่สุดอยู่แล้วงานไม้ของเรา พูดถึงฝีมือยังไม่ถึงขนาดช่างญี่ปุ่นและงานไม้และโลหะของไทยเรามุ่งทุ่มเทให้แก่ทางศาสนาเป็นใหญ่ ชาวบ้านเองไม่พิถีพิถันเท่าไร งานที่เหลือตกทอดมาน้อย ประกอบกับชาวบ้านเองอยู่กับเรือนไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ เครื่องเรือนก็ไม่สู้จะใช้อยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรที่กล่าวได้ว่าถึงขนาดมาตรฐาน ขันลงหิน และถาดทองเหลือง เป็นงานที่เป็นตัวแทนจากชาวบ้านในประเภทโลหะ เครื่องเงินของเราปัจจุบันอยู่ในมือจีนหมดแล้ว เหลืออยู่แต่ที่เชียงใหม่เป็นแหล่งสุดท้าย ฝีมือนับว่าดีพอใช้ แต่มีอิทธิพลจากพม่าแทรกอยู่เห็นได้ถนัด เขมรในช่วงปัจจุบัน ช่างเงินของเขายังกุมตลาดและฝีมือไว้ได้ แต่ไม่ทราบว่าฝรั่งเศสได้ให้ความคิดในรูปทรง และการออกแบบหรือเปล่า ฝีมือเงินของเขมรประณีต และดีมากทีเดียว เมื่อเทียบกับช่างเงินชาวจีนในประเทศไทยเรา
งานเขียนและปั้น ของเราขึ้นอยู่กับสถาปัตยกรรมประเภทศาสนาทั้งสิ้น และผู้ทำคือช่างที่เรียกได้ว่าไม่ใช่ชาวบ้าน ภาพเขียนในสมุดข่อย ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นจิตรกรรมชาวบ้านเพราะส่วนมากทำขึ้นโดยคำสั่งพระเจ้าแผ่นดินและช่างผู้ทำ คือจิตรกรหลวง แต่งานเขียนตามผนังโบสถ์นั้น เราพบอยู่อย่างหนึ่งว่า จิตรกรผู้เขียนได้เป็นผู้ที่รักชีวิตชาวบ้าน และอดที่จะสอดแทรกเอาชีวิตและบรรยากาศของชาวบ้านลงไว้ในงานของตนไม่ได้
งานสลัก เป็นงานที่เราจะหาดูได้เสมอในงานพิธี เช่น พิธีศพ คือการสลักหยวก งานดอกไม้ เช่น พิธีเข้าพรรษา บวช กฐิน ฯลฯ งานประเภทนี้ เป็นงานชั่วคราวก็จริง แต่มีชีวิตชีวามาก สีที่ก็ใช้สีที่ฉูดฉาด แต่ประทับใจมากทีเดียว งานประเภทที่กล่าวนี้ อยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเรา และคงอยู่ได้นานตลอดไป …
… เตาขนมครกเด็กเล่น-ดินเผา ตัวอย่างของรูปทรงที่ออกจากหน้าที่ใช้สอย( Form Follow Function ) อย่างปราศจากการเคลือบแคลงใดๆ ถูกต้องตามหลักปรัชญาของความงาม ผลจากการทำงานโดยวิธีนี้ คือการสนองประโยชน์ที่สมบูรณ์และการประหยัดวัสดุ และแรงงาน งานของชาวญี่ปุ่นจะมีคุณสมบัติแบบนี้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ …
เครื่องถ้วยชามจากญี่ปุ่น … ตัวอย่างของงานที่ทรงคุณค่าในฐานเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของโลก โดยผู้ผลิตที่ปราศจากการยึดตัวเอง งานเหล่านี้ได้จากกรุงโตเกียว-ร้านตากูมิ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าประเภทชาวบ้าน ชิ้นที่เห็นนี้มาจากหมู่บ้านที่ตาชิกุยเป็นส่วนใหญ่ หมู่บ้านนี้ตั้งสงบในหุบเขา จึงรอดจากการขยายตัวของศิลปอุตสาหกรรม ซึ่งได้ทำลายหมู่บ้านที่ผลิตงานชาวบ้านไปเป็นจำนวนมาก
ขอให้สังเกตดูการใช้ลายที่เสรีในการเคลือบ วิธีนี้ให้ความรู้สึกจับใจมากทีเดียว จะมากกว่าลวดลายที่เขียนประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆเสียอีก เพราะเราสัมผัส การผสมและตัดกันระหว่างสีที่ใช้เคลือบ สัมผัสผิวที่เคลือบต่างชนิดทำให้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมี Vitality มาก ตุ๊กตาดินเผาสำหรับศาลพระภูมิและตุ๊กตาในเรื่องพระอภัยมณี ตุ๊กตาดินเผาสำหรับศาลพระภูมิ เทียบได้กับงานจำพวกศิลปะเด็กและมีคุณสมบัติทาง Primitive Art บวกอยู่ด้วย เป็นงานที่ไม่คำนึงถึงผลทางเหมือนธรรมชาติ แต่รูปทรงและสีที่ให้ จะให้ความประทับใจที่รุนแรง ตุ๊กตาพระอภัยมณี ไม่มีค่าเท่ากับตุ๊กตาศาลพระภูมิเพราะผู้ทำเพิ่มเติมลวดลายมากไปจนทำลายงานของตนเอง แส้ดอกจาก และย่ามเด็กจากเชียงใหม่ แต่ละท้องถิ่นมีวัสดุที่ธรรมชาติให้แตกต่างไป ชาวบ้านใช้วัสดุพื้นบ้านของตัวผลิตงานขึ้นมา ทำให้แต่ละท้องถิ่นมีงานที่ลักษณะประจำตัวไม่ซ้ำกัน งานศิลปอุตสาหกรรมขาดคุณสมบัติข้อนี้ และไม่อาจทำได้เพราะเหตุผลทางการผลิตแบบปริมาณและราคาจำหน่ายบังคับ …
สังคมในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนมาก สภาพของสังคมผลักให้เราห่างไกลชีวิตอัน “เอื่อยสบาย” ออกไปทุกที เท่าๆกับผลักให้เราเข้าไปสู่ “สภาพพักฟื้นสมอง” เร็วเข้าทุกขณะ แต่คนอย่างตาสี ยายมา ชาวบ้านไทยเราที่ครองชีพอย่างธรรมดาสามัญ ง่ายในความเป็นอยู่และนึกคิด สามารถผลิตงานที่มีความสด สะอาด และมีค่าในทางศิลปะ จึงเป็นงานที่เราควรศึกษารวบรวมและชื่นชมไว้ ก่อนที่อาณาเขตของสังคมแผนใหม่จะเข้าไปเปลี่ยนบุคคลเหล่านั้นเสีย ปัจจุบันบุคคลที่อยู่อย่างที่เรียกว่าชาวบ้าน และผลิตงานแบบชาวบ้านกำลังลดจำนวนลง เพราะความเจริญทางการคมนาคมแผนใหม่รุดเข้าไปถึงและก่อความเปลี่ยนแปลง เราจะพบว่าชาวบ้านในภาคเหนือรู้จักวัสดุพลาสติกและนิยมใช้อย่างมาก เท่าๆกับชาวภาคอีสานที่กำลังฟังเพลงประเภทแดดออกจากเครื่องกระจายเสียง ในที่ที่ครั้งหนึ่งมีแต่เสียงแคนและเสียงเพลงจากการเป่าใบไม้ จริงอยู่จะเป็นการที่ไม่ฉลาด หากปฏิเสธความก้าวหน้าของงานอุตสาหกรรม เพราะงานประเภทนี้เข้าไปยกระดับการกินอยู่ให้ดีขึ้นเหมือนกัน งานศิลปกรรมชาวบ้านบางอย่างจะต้องหยุด เพื่อหลีกทางให้แก่ศิลปอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ผลิตผลที่ชาวบ้านไทยเราที่ได้ทำมาแล้วในรูปนี้ควรที่จะได้รับการดูแลและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะงานศิลปกรรมชาวบ้านมิใช่หรือ ที่ปูพื้นฐานวัฒนธรรมชองชาติไทยได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เราควรมีสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมงานชนิดนี้ เช่นที่ญี่ปุ่นทำไว้ในกรุงโตเกียว ก่อนที่จะสายไปจนงานประเภทนี้สูญ
ที่มา: แสงอรุณ รัตกสิกร. “ศิลปกรรมชาวบ้าน การสำรวจและการวิจารณ์อย่างย่อ.” แสงอรุณ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์ 2523, หน้า 88 – 95