อาคารประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
อาคารประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔)
อาคารประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีดำริที่จะสร้างขึ้นภายหลังจากงานก่อสร้างในวัดทั้งหลายแล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา พระมหาเจดีย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทำให้วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติโดยสมบูรณ์พร้อมด้วยพระอุโบสถ พระมหาธาตุเจดีย์ เสนาสนะต่าง และเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนุสรณ์แห่งความจงรักภักดี ของพสกนิกรชาวไทย พร้อมทั้งคณะสงฆ์ไทยที่ได้ร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ ทางวัดจึงได้มีดำริในการจัดสร้างพระบรมรูปขึ้น โดยคณะกรรมการวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้เชิญให้อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ และสถาปนิกผู้ถวายงานออกแบบพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา มาเป็นผู้ออกแบบอาคารประดิษฐานพระบรมรูปฯ ถวายพระองค์ท่าน อีกครั้งหนึ่ง
แบบทางสถาปัตยกรรมได้ถูกร่างให้สอดคล้องกับความสูงของพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเพื่อความสง่างาม และเหมาะสมแก่สถานที่ตั้งซึ่งอยู่ด้านข้างพระมหาธาตุเจดีย์ โดยมีการผสมผสานศิลปสถาปัตยกรรมของไทยและของอินเดียเข้าด้วยกัน ทั้งรูปแบบอาคาร วัสดุที่ใช้ รวมถึงช่างฝีมือของทั้งสองประเทศ ผังอาคารเป็นลักษณะผังพื้นแปดเหลี่ยมที่สามารถมองเห็นได้รอบด้าน รับกับฐานภายในซึ่งรองรับองค์พระบรมรูปบรอนซ์ทอง ประทับยืนฉลองพระองค์ด้วยชุดกองทัพไทย ขนาดสูง 2.30 เมตรซึ่งปั้นขึ้นแบบโดยนายเครน กุญชศิลป์และปรับแต่งให้สมบูรณ์โดยอาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ภายใต้การดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
การตกแต่งอาคาร ได้วางแนวคิดในการวาดภาพจิตรกรรมภายใต้โดมกลีบมะเฟืองหินอ่อนเป็นภาพฉัตรเก้าชั้นมีพระปรมาภิไธยย่อ ลอยเด่นอยู่เหนือฉัตร ประกอบตราสัญลักษณ์สำคัญบริเวณคอสอง หรือตอนบนของผนังอาคารบริเวณใต้โดม อันได้แก่พระราชลัญจกร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ครุฑพ่าห์ และคุณพระศเวตอดุลยเดชพาหนฯ ช้างเผือกประจำรัชกาล วางอยู่ในตำแหน่งทิศทั้งสี่ประกอบกับลายพรรณพฤกษา โดยกำหนดสีและลวดลายที่สง่างามสมพระเกียรติ นับได้ว่าภาพจิตรกรรมทั้งหมดนี้ สามารถสื่อแสดงถึงพระราชอิสริยยศแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้อย่างงดงามสมบูรณ์ที่สุด
แนวคิดในการออกแบบซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และรายละเอียดในการดำเนินงานได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยในทุกขั้นตอน โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีความตั้งใจในการทำงาน เพื่อสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพสกนิกรชาวไทยนี้ให้ดีที่สุด ทำให้อาคารหลังเล็กๆ แห่งนี้มีความสง่างาม สอดคล้องกับบริบทแวดล้อม สร้างความปิติให้แก่พุทธบริษัทชาวไทยอย่างยิ่ง และจะเป็นประจักษ์พยานแห่งความจงรักภักดีที่ปรากฏไปยังประชาชนชาวอินเดีย รวมถึงชาวต่างชาติที่ได้มาเยือนวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ วัดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แห่งนี้โดยทั่วกัน
สถาปนิก: อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร