Mercedes-Benz มรดกล้ำค่าจาก Karl Benz และ Gottlieb Daimler

งานออกแบบที่โดดเด่นสะดุดตา นอกจากตึกสวยระฟ้า เสื้อผ้าที่นำสมัย เฟอร์นิเจอร์ที่ทันตามความต้องการของผู้ใช้งานแล้ว ปฎิเสธไม่ได้ว่า การออกแบบรถยนต์ พาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1900 ก็มีวิวัฒนาการอันน่าทึ่งไม่แพ้กันคาร์ล เบนซ์ และ กอตต์ลีบ เดมเลอร์ สองนักประดิษฐ์ผู้หมุนกงล้อประวัติศาสตร์

คาร์ล เบนซ์ และ กอตต์ลีบ เดมเลอร์ คือ ผู้บุกเบิกแห่งโลกยนตรกรรม ทั้งคู่เป็นนักประดิษฐ์และพัฒนายานยนต์ โดยต่างมีกิจการของตนเองจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1920 จึงได้รวมกิจการเป็นบรฺษัท เดมเลอร์-เบนซ์ เอจี (Deimler-Benz AG) ผู้ผลิตรถคุณภาพในนาม เมอร์เซเดส-เบนซ์ เส้นทางนวัตกรรมของคนทั้งสองแม้จะเคียงคู่ขนานกันในหลายๆด้าน แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างที่ชัดเจน

กอตต์ลีบ เดมเลอร์ คือผู้นำสันดาปภายในมาสนองวิสัยทัศน์แห่งการขับขี่ขนส่ง “ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ” โดยเริ่มทดสอบเครื่องยนต์พลังสูงเครื่องแรกของโลกในปี 1883 สองปีต่อมาเขาติดตั้งเครื่องยนต์นี้เข้ากับจักรยาน ซึ่งได้รับการดัดแปลง ผลลัพธ์คือ จักรยานยนต์คันแรกของโลก และอีกสามปีเขาก็ได้ติดตั้งเครืองยนต์ดังกล่าวเข้ากับตัวรถม้า นับเป็นรถยนต์สี่ล้อคันแรกนีวิตนักประดิษฐ์ของเขา น่าเสียดายที่เดมเลอร์มีเวลาเหลือเพียงน้อยนิดก่อนอำลาโลกไปด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 1900

คาร์ล เบนซ์ เลือกเส้นทางยนตรกรรมที่แตกต่างจากเดมเลอร์ เขาถือว่าการสร้างรถยนต์จะต้องอาศัยหลักการที่แตกต่างจากระบบรถเทียมม้าโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงออกแบบยานยนต์ให้มีสามล้อติดตั้งเครื่องยนต์หนึ่งสูบในแนวนอน และได้จดทะเบียนสิทธิบัตรหมายเลข 37435 เมื่อวันที่ 19 มกราคม ปี 1886 สิทธิบัตรฉบับนี้ก็คือ สูติบัตร ของรถ ที่คารล์ เบนซ์ เป็นผู้ให้กำเนิดนั่นเอง จำนวนรถที่ผลิตจากโรงงานของเขาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อรถรุ่น เวโล (Velo) เริ่มปรากฎโฉมโดยระหว่างปี 1894-1901 ผลิตได้ถึง 1,200 คัน อาจกล่าวได้ว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เบนซ์มีชีวิตยืนยาวจนได้เห็นความฝันปรากฎเป็นจริงก่อนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี 1929

ก้าวแรกที่สง่างาม

เมอร์เซเดส ชื่อที่สร้างตำนานเกียรติยศมีที่มาจาก เอมิล เยลลิเน็ค (Emil Jellinek) นักธุรกิจใหญ่ชาวออสเตรเลีย ผู้จำหน่ายรถของบริษัท เดมเลอร์ มอเตอร์เรน เกเซลชาฟท์ (Daimler Motoren Gesellschaft-DMG) ในแวดวงสังคมชั้นสูงและวงการธุรกิจการเงิน เยลลิเน็คเป็นคนหัวก้าวหน้า และมองออกว่ารถยนต์คือสิ่งประดิษฐ์ที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในโลกอนาคต จึงเร่งเร้าให้ DMG เพิ่มสมรรถนะความเร็วและพลังแรงของรถขึ้นเรื่อยๆทั้งยังได้ลงสนามแข่งรถเอง โดยใช้ชื่อทีมว่า เมอร์เซเดส ตามชื่อบุตรสาว (Mercedes) เป็นคำในภาษาสเปน หมายถึงความสง่างาม) เดิมทีเยลลิเน็คเป็นเจ้าของรถเดมเลอร์ขนาด 6 แรงม้า เครื่องยนต์สองสูบ ซึ่งมีระดับความเร็วสูงสุด 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่นั่นยังไม่เร็วพอสำหรับเขา ทางโรงงานจึงต้องประกอบรถรุ่น ฟีนิกซ์ ให้อีกสองคันตาคำเรียกร้อง ในปี 1898 โดยติดตั้งเครื่องยนต์ 8 แรงม้าและสามารถวิ่งได้เร็วถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นรถยนต์ขนาดสี่สูบตัยแรกของโลก สองปีหลังจากนั้น DMG ก็สร้างปรากฎการณ์รับศตวรรษใหม่ด้วยรถ 35 แรงม้า ออกแบบโครงสร้างและองค์ประกอบใหม่ทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้นำสมญานามของเยลลิเน็คมาใช้เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ทางการค้า และแล้วใบสั่งซื้อรถที่ผ่านมาทางเยลลิเน็คก็ขยายการผลิตของโรงงานเดมเลอร์ออกไปอย่างเต็มกำลัง รถยนต์ เมอร์เซเดส รุ่นแรกที่ปรากฎโฉมเมื่อปี 1900 ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอันมาก สร้างความภาคภูมิใจแก่เยลลิเน็คจนต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น เอมิล เมอร์เซเดส เขาได้รำพึงถึงเรื่องนี้อย่างติดตลกว่า นี่คงเป็นครั้งแรกที่พ่อได้ชื่อตามลูกสาว

ดาวสามแฉก ล้อมล้อชัยพฤกษ์

แม้ DMG จะประสบความสำเร็จกับชื่อทางการค้า แต่ก็ยังไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์สำหรับรถเมอร์เซเดส จนกระทั่ง พอล และอดอลฟ์ เดมเลอร์ ผู้สืบทอดกิจการของบิดาหวนระลึกขึ้นได้ว่า สมัยหนุ่มๆพ่อเคยเป็นผู้บริหารของโรงแรมแห่งหนึ่งที่เมืองดอยซ์ ในจดหมายที่เขียนถึงแม่ พ่อได้แสดงเจตนารมย์ว่า สักวันหนึ่งดาวดวงนี้จะต้องทอแสงรุ่งโรจน์เหนือโรงงานที่เป็นของท่านเอง และถ้าจะตีความให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก แฉกดาวทั้งสามก็อาจเป็นสื่อแทนความมุ่งมั่นของเดมเลอร์ที่จะพัฒนาระบบขับเคลื่อนยานพาหนะทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รุปดาวสามแฉกจึงได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและเริ่มเปล่งรัศมีทอประกายเหนือกระจังหม้อน้ำหน้ารถเมอร์เซเดส ตั้งแต่ปี 1910 เป็นต้นมา

ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริษัท DMG กับ Benz & Cie. ซึ่งขับเคี่ยวแข่งขันกันมานาน ได้หันมาร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน แล้วในที่สุดก็ได้รวมกิจการภายใต้ชื่อ Daimler-Benz AG ในปี 1926 โดยมีตราสัญลักษณ์ดาวสามแฉกของเดมเลอร์ในวงล้อมชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างชื่อ Mercedes กับ Benz เครื่องหมายการค้านี้ถูกปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย ในช่วงเวลายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ครองความเป็นหนึ่งในโลกยนตรกรรมตลอดมา

ศาสตร์และศิลป์แห่งยนตรกรรม

เกียรติประวัติอันยาวนานได้พิสูจน์ว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ได้เป็นแค่พาหนะใช้งาน นับแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ดาวสามแฉกได้เปล่งประกายจุดแรงบันดาลใจ เสริมสง่าแก่ผู้เป็นเจ้าของ นี่คือรถในฝันที่ใครๆต่างก็เหลียวมองด้วยความนิยมชมชื่น และเคล็ดลับแห่งความสำเร็จอันโดดเด่นก็คือ การประสานอย่างลงตัวระหว่างความล้ำเลิศทางวิศวรรมกับสุดยอดศิลปะแห่งการออกแบบรถ

นั่นเป็นผลึกความคิดซึ่งตกทอดมาจากคันแรกที่ใช้ชื่อ เมอร์เซเดส เมื่อปี 1900 รถคันดังกล่าวมีรูปลักษณ์อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับบรรดา รถม้าที่ไม่ใช้ม้าลาก ในยุคนั้น กล่าวคือ มีเครื่องยนต์ติดตั้งด้านหน้า บังคับถอยหลังได้ ติดกระจังหม้อน้ำแบบรวงผึ้ง มีกลไกเปลี่ยนเกียร์ ดรัมเบรก และแกนพวงมาลัยแนวเฉียง นวัตกรรมเหล่านี้คือคุณลักษณ์ที่โดดเด่นมาจนถึงวาระแห่งการเปิดศักราชเครื่องยนต์พลังสูงในปี 1921 ด้วยฝีมือสร้างสรรค์ของ เฟอร์ดินาน พอร์ช ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหัวหน้าวิศวกรโรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ หลายรุ่นก็เรียงแถวออกมาเป็นดาวเด่นในวงการยานยนต์ จนถึงปี 1952 รถในฝันที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้โลกตื่นตะลึง นั่นคือรุ่น 300 SL เวอร์ชั่นรถแข่ง ซึ่งมีประตูปีกนกนางนวลเป็นสัญลักษณ์ นี่คือความงามติดล้อที่ซ่อนความล้ำเลิศด้านเทคโนโลยีไว้ภายใน รถแข่งรุ่นนี้ได้ครองตำแหน่งเจ้าสนามและครองใจผู้ชมอย่างง่ายดาย ก่อนถูกดัดแปลงเป็นรถสำหรับขับขี่ทั่วไปในอีกสองปีต่อมา แล้วยกระดับความเลิศหรูขึ้นอีกในรุ่นปรับโฉมใหม่ปี 1957

ตั้งแต่ปี 1963-ปี 1981 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ผลิตรถขานดใหญ่พิเศษรุ่น 600 รวมทั้งสิ้น 2,677 คัน รถลิมูซีน 250 แรงม้า 6.3 ลิตร รุ่นนี้คือต้นตำรับแห่งพาหนะคู่ใจ วีไอพี และถือเป็นสุดยอดประณีตศิลป์แห่งยนตรกรรม คุณสมบัติเหนือจินตนาการและมาตรฐานใดๆในวงการยานยนต์ ส่งให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ 600 ฝากชื่อไว้ในฐานะยานเกียรติยศของรัฐบาลและผู้นำวงการต่างๆทั่วโลก หลังจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ยุติการผลิตรถรุ่น 600 เลขหมายแห่งความสูงศักดิ์นี้ถูกนำไปใช้กับรถเก๋งคันใหญ่รุ่น 600 SE แต่ทายาทที่แท้จริงของจักรพรรดิแห่งยานยนต์เพิ่งจุติมาสืบทอดภารกิจเมื่อเร็วๆนี้เอง โดยได้รับการขนานนามว่า มายบัค (Maybach) อีกครั้งหนึ่งที่ความล้ำเลิศทางเทคโนโลยีได้บรรจบกับความอลังการเลิศหรูภายใต้สัญลักษณ์ดาวสามแฉก การประกอบรถรุ่นนี้ต้องอาศัยฝีมือช่างมากกว่าการใช้จักรกลอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงมีการสอดใส่รายละเอียดตามความประสงค์ของลูกค้าแต่ละรายด้วย

คุณลักษณ์เหนือมาตรฐาน

บนเส้นทางที่ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้คิดค้นและพัฒนาประสิทธิภาพของรถทุกรุ่นจนสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิศวกรรม รถยนต์เมอร์เซเดสคันแรกของโลกที่ประกอบขึ้นเมื่อปี 1900 คือต้นแบบของยานยนต์ยุคปัจจุบัน ซึ่งยังคงติดตั้งพวงมาลัยแนวเฉียง และรถรุ่นต่อมาก็ได้รับการเสริมพลังเครื่องยนต์ จนสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดในบรรดารถร่วมยุคร่วมสมัย รถเมอร์เซเดส 90 แรงม้า ซึ่งผลิตเมื่อปี 1904 ได้สร้างสถิติความเร็วสูงสุดถึง 148.5 ไมล์ต่อชั่วโมง

ทั่วโลกยอมรับว่า รถเมอร์เซเดส เร็ว แรง แต่ให้ความรู้สึกนุมนวลโอ่อ่า ดุจคฤหาสน์เคลื่อนที่ รถห้าประเภทที่เรียงแถวออกสู่ตลาดรถระดับสูงในช่วงปี 1965-1998 ได้แก่ 300 SEL 6.3, 450 SEL 6.9, 560 SEL, 600 SEL, และ S 600 เมอร์เซเดส-เบนซ์ คือผู้นำรายแรกของโลกที่เริ่มใช้ระบบ Anti-lock Brakes (ABS) ในปี 1978 และเริ่มติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์บังคับล็อคกับระบบขับเคลื่อนทั้งสี่ล้อ 4 MATIC ตั้งแต่ปี 1985 ทั้งยังได้พัฒนาระบบ ESP (Electronic Stability Program) สำหรับ S 600 คูเป้ ส่วนรุ่น C230 นั่นถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในรูปลักษณ์ใหม่ของ Supercharged Mercdes ยุคทศวรรษ 1930 และการจุติของ A-CLASS ในปี 1996 ได้กำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับความปลอดภัยของรถรุ่นกะทัดรัดด้วย Sandwichconstruction ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของรถในการต้านรับแรงอัดจากการชนด้านหน้า การรังสรรค์ทางวิศวกรรมยังคงต่อเนื่องไม่ขาดสายจนถึงก้าวสำคัญในปี 1998 เมื่อ S-Class ได้รับการปรับโฉมด้วยอุปกรณ์ใหม่ 30 รายการ

นวัตกรรมหลังปี 2000 ได้แก่รถ SL ติดตั้งเบรกอิเล็กทรอไฮดรอลิกแรงดันสูงกับระบบควบคุมเบรกด้วยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ทรอนิกคันแรกของโลก รถมายบัคสุดยอดสุนทรีย์แห่งยานยนต์ ซึ่งมีเบาะหลังปรับเอนได้และติดตั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่สามเครื่อง

สำหรับ Mercedes-Benz SLR McLaren เริ่มออกสู่ตลาดในปี 2003 เป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตในจำนวนจำกัด ถือเป็นสุดยอดดีไซนืรถสปอร์ตยุคใหม่ โดยได้รักษาเอกลักษณ์ด้วยประตูแบบปีกนกของของ 300 SL กับรูปลักษณ์ที่ถอดเค้ามาจาก 300 SL อันลือลั่นในโลกแห่งความเร็ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ภาคภูมิใจกับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าในสนามแข่งกรังด์ปรีซ์ ฟอร์มูล่า-วัน และเส้นทางแรลลี่ทั่วโลก

ประติมากรรมติดล้อ

ความประณีตด้านดีไซน์และฝีมือประกอบรถอันไร้ที่ติ คือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้เมอร์เซเดสทุกรุ่นโดดเด่นด้วยรสนิยมสั่งซื้อแชสซีจากโรงงานแต่ไปว่าจ้างช่างฝีมืออิสระเป็นผู้ประกอบตัวรถให้ โรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้เสนอทางออกใหม่ที่ทำให้งานด้านวิศวกรรมกับศิลปกรรมไม่จำเป็นต้องแยกจากกันอีกต่อไป

สำหรับโลกสมัยใหม่ เมื่อรถรุ่น 300 SL ปรากฏโฉมในทศวรรษที่ 1950 บรรดา เกจิรถ ทั่วโลกได้แสดงความชื่นชมต้อนรับ รถในฝัน แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็ต้องตื่นตะลึงกับความงามสง่าคู่บารมี บุคคลสำคัญของรถลิมูซีนรุ่น 600

ปี 1963 คือจุดเริ่มต้นหลังคาฮาร์ดท็อปสำหรับรถ SL ทั้งแบบเปิดประทุนและติดคั้งตายตัว ผลงานดีไซน์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่เพียงก้าวล้ำนำสมัย หากยังรักษารสนิยมอมตะอย่างเสมอต้นเสมอปลาย รูปลักษณ์ของรถออฟโรด G ที่ผลิตต่อเนื่องมานานกว่า 25 ปี ยังคงโดดเด่นประทับใจไม่ตกยุค และจุดเด่นของ A-Class ซึ่งเผยโฉมกะทัดรัดในปี 1998 ก็คือดีไซน์ที่ใช้พื้นที่ภายในให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสัดส่วนโครงสร้างที่ช่วยปกป้องผู้โดยสารจากแรงชนด้านหน้าอย่างต็มประสิทธิภาพ หรือในกรณีของCLS ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน การผสมผสานระหว่างรูปแบบของซีดานสี่ประตูกับรูปโฉมโฉบเฉี่ยวของคูเป้ ทำให้โค้งหลังคาสูงกว่ารถคูเป้ทั่วไป พื้นที่ภายในจึงโปร่งโล่งให้ความรู้สึกสบายอารมณ์ยามขับขี่

เคล็ดลับในการออกแบบรถของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็คือ ต้องเข้าถึงความต้องการและรสนิยมของลูกค้าส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการปรุงแต่งอย่างฉาบฉวยและล้นเกิน ดีไซน์หรูที่แฝงความรอบคอบและคำนึงถึงอนาคต จะช่วยให้ผู้ครอบครองรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รู้สึกอุ่นใจไม่ต้องพะวงเรื่องการ ตกรุ่น และยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำทางรสนิยมไว้ได้ตราบนานเท่านาน

หนึ่งศตวรรษถนนสายดวงดาวในสยามประเทศ

ตำนานดาวสามแฉกในกรุงสยาม

ภาพวัดวาอารามซ้อนสลับกับตึกสูงทันสมัยคือภาพสะท้อนความกลมกลืนระหว่างวิถีชีวิตไทยสมัยใหม่กับวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่แม้สายถนน ในเมืองใหญ่จะคลาคล่ำด้วยยวดยานนานาชนิด ผู้คนในดินแดนแห่งรอยยิ้มและอิสรเสรียังจำได้ว่า ช้าง เคยมีบทบาทเป็นพาหนะสำคัญในการสัญจรและลำเลียงขนส่ง หรืกระทั่งการรบทัพจับศึก สัญลักษณ์พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้างก็ยังคงแนบแน่นในสำนึกของคนไทย ช้างยังคงเป็นสัตว์นำโชคที่ทุกคนโปรดปรานเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน ในแง่หนึ่ง ความสำคัญของราชาแห่งพาหนะสี่เท้าได้สะท้อนความเป็นจริงในวิถีชีวิตไทยที่การคมนาคมขนส่งทางบกมีความสำคัญ ไม่แพ้ทางน้ำมานานก่อนที่จะมีการตัดถนนและสร้างทางรถไฟ

รถบัสและรถบรรทุกที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในทศวรรษที่ 1920 มีบทบาทเด่นในการพัฒนาระบบขนส่งทางไกล ยกระดับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้นเป็นอันมาก ความเป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้และคุณภาพรถที่ผ่านการพิสูจน์มาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากมหาชนชาวไทยจนอาจกล่าวได้ว่า ถนนทุกสายในประเทศนี้ไม่เคยขาดรถบัสโดยสารและรถบรรทุกที่มีสัญลักษณ์ดาวสามแฉกติดอยู่ และถ้าจะวัดระยะทางที่รถเหล่านี้ได้วิ่งรับใช้ปวงชนชาวไทยมาร่วมแปดทศวรรษก็คงรวมได้หลายรอบโลกทีเดียว

ในเมืองไทยมีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์แทบทุกรุ่นประเภทเท่าที่เคยผลิตออกมา ทั้งรุ่นที่จัดจำหน่ายทั่วไปรุ่นพิเศษสุด เช่นรถติดตั้งซุปเปอร์ชาร์จยุคทศวรรษ 1930 หรือรุ่น 300 และ 220 ยุคหลังสงครามโลกทั้งแบบธรรมดาและแบบเปิดประทุนซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน รถ 300 SL ในรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวของคูเป้ และลิมูซีนรุ่น 600 ที่ใช้ในรัฐพิธีต่างๆ ช่วงกลางทศวรรษ 1970 ก็มีผู้สั่งซื้อ S-Class รุ่น 450 SEL 6.9 ซึ่งเป็นสุดยอดนวัตกรรมแห่งยุคสถิติการนำเข้ารถและผลสำเร็จจากการตั้งโรงงานประกอบรถหลายรุ่นในประเทศ คือรัศมีอันรุ่งโรจน์ของดาวสามแฉกซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

คู่บารมีองค์ราชันย์

ย้อนอดีตสู่ปีพุทธศักราช 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสายแรกในนครหลวง ชื่อถนนเจริญกรุง มีความยาว 6.5 กม. ตั้งต้นจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่บางคอแหลมหรือถนนตกในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของรถม้าและรถลาก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงโปรดให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย และทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์เป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทรงสั่งให้บริษัทเยอรมันในกรุงปารีส ประกอบรถยนต์เก๋งหนึ่งคันยี่ห้อเมอร์เซเดส ซึ่งนับเป็นรถชั้นยอดในเวลานั้น

รถยนต์เมอร์เซเดสคันดังกล่าว ปรากฎหลักฐานการสั่งซื้อผ่านสถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส โดยสั่งซื้อจากออโตโมบิลยูเนียน ปารีส ตั้งอยู่เลขที่ 39 ถนนฌองส์ เอลิเซ่ ซึ่งเป็นบริษัทขายรถยนต์ของนายเอมิล เยลลิเน็ค รถคันนี้มาถึงสยามประเทศเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ระบุผู้รับปลายทางคือพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม เป็นรถยนต์รุ่น 28 hp 4 สูบ เครื่องยนต์ 35 แรงม้า หมายเลขแชสซี คือ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์คือ 4290

ในขณะนั้น กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเร่งการประกอบรถยนต์แทบทุกวัน พอรถเสร็จก็ทรงว่าจ้างคนขับชาวอังกฤษขับรถคันนั้นพาพระองค์ท่าน พร้อมด้วย ม.จ. อมรทัต กฤดากร หลวงสฤษดิ์ สุทธิวิจารณ์ (ม.ร.ว.ถัด ชุมสาย) ตระเวนทั่วยุโรปภาคกลางเป็นการทดลองเครื่อง แล้ววนกลับไปยังนครปารีส

เมื่อเสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จกลับถึงเมืองไทย ก็ได้ทรงนำรถคันนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก รถยนต์คันนี้คือรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สารถีคือ เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานรถยนต์พระที่นั่งมาก เพราะความสะดวกสบายและเดินทางได้เร็วกว่ารถม้าพระที่นั่ง เมื่อทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจก็มักเสด็จเยือนที่ต่างๆ ด้วยรถยนต์พระที่นั่งคันดังกล่าวเสมอ ต่อมาทรงเล็งเห็นว่ารถยนต์เพียงคันเดียวไม่เพียงพอที่จะใช้งานตามพระราชประสงค์ เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายในหลายพระองค์ก็ทรงโปรดปรานรถยนต์กันทั้งนั้น จึงได้ตัดสินพระทัยซื้อรถยนต์พระที่นั่งอีกหนึ่งคัน

ในครั้งนี้เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ ได้เป็นผู้แทนพระองค์ในการสั่งซื้อ และทรงเลือกรถเมอร์เซเดส-เบนซ์อีกครั้ง สั่งนำเข้าโดยตรงจากประเทศเยอรมนี เป็นรถเก๋งสีแดง รุ่นปี 2448 เครื่องยนต์สี่ลูกสูบ ขนาด 28 แรงม้า วิ่งเร็ว 73 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งนับว่าเร็วมากในยุคนั้นและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามแก่รถยนต์คันนี้ ในทำนองเดียวกันกับโบราณราชประเพณีที่มีการพระราชทานนามแก่ช้างเผือกคู่บารมี ชื่อ แก้วจักรพรรดิ์ ของรถยนต์พระที่นั่งคันนี้ มีความหมายว่า เป็นประดุจหนึ่งในแก้วเจ็ดประการอันเป็นของคู่พระบารมีแห่งองค์ราชันย์

เมื่อรถยนต์เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่พระราชวงศ์และคหบดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่าสมควรจะจัดงานเฉลิมฉลองสักครั้งหนึ่ง จึงทรงกำหนดให้วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2448 เป็นวันชุมนุมรถยนต์ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ามีรถยนต์ไปร่วมชุมนุมในบริเวณพระบรมมหาราชวังถึง 30 คัน และพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าของรถทุกคน เมื่อถึงเวลาบ่ายสี่โมงเย็นก็ได้เคลื่อนขบวนรถไปตามถนนสามเสนเลี้ยวเข้าสู่สวนดุสิต โดยตลอดสองข้างทางมีผู้คนยืนเรียงรายชมขบวนด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ปี พ.ศ. 2451 ใสวาระเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 56 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งรถยนต์เข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งเป็นจำนวน 10 คัน เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูงเพื่อใช้ในราชการแผ่นดิน รถทั้งสิบคันได้รับพระราชทานนามให้สอดคล้องกันเป็นที่ไพเราะจับใจ ได้แก่ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพตกังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำพองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี

ความทันสมัยมุ่งสู่ถนนทุกสาย

เมื่อมีการสร้างถนนหนทางในเมืองบางกอกมากขึ้น รถยนต์ก็กลายเป็นพาหนะที่สะดวกสบายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางวิ่งขวักไขว่ไปมาบนท้องถนนทำให้การจราจรเริ่มติดขัดเนื่องจากรถวิ่งกันไม่เป็นระเบียบและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบกับในสมัยนั้นยังไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักฐานกรรมสิทธิ์ จึงมีปัญหาการลักขโมย และก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมามากมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการออกกฎหมายตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2452 ภายใต้พระบรมราชโองการ ดังนี้

“ทุกวันนี้มีผู้ใช้รถยนต์ที่เรียกกันว่า “โอโตโมบิล” ขับไปมาอยู่ตามถนนหลวงมากขึ้น สมควรที่จะมีพระราชบัญญัติสำหรับการเดินรถและขับรถขึ้นไว้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์อันตรายต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสืบไป…”

พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้เจ้าของจดทะเบียนรถกับกระทรวงมหาดไทย โดยเสียค่าธรรมเนียมคันละ 10 บาท ในช่วงเวลานั้นมีรถยนต์นั่งและรถบรรทุกทั้งในบางกอกและหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศที่จะทะเบียนรวมทั้งสิ้น 412 คัน

ในเมื่อคนไทยหันมานิยมใช้รถกันมากขึ้น บริษัทต่างประเทศได้ทยอยกันเข้ามาเปิดกิจการในบางกอกมากมาย ว่ากันว่า ในยุคนั้นร้านรวงในย่านการค้าเมืองหลวงจะมีการขึ้นป้ายประกาศเปิดกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหม่แทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว รถยนต์ที่นำเข้ามีหลากหลายยี่ห้อ ทั้งจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา รวมไปจนถึงธุรกิจรถมือสองด้วย จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2474 รถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดมีจำนวนถึง 3,222 คัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระอุขึ้นในปีพ.ศ. 2482 การสัญจรโดยรถยนต์ในเมืองไทยก็ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว จนเมื่อผ่านพ้นยุคข้าวยากหมากแพงไปแล้ว คนไทยก็หันมานิยมสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกครั้ง และแน่นอนว่ารถยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ความรุ่งโรจน์ของแบรนด์ เมอร์เซเดส-เบนซ์

ในระยะแรกห้าง บี.กริมม์ เป็นบริษัทที่นำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในช่วงทศวรรษที่ 1900 รถคันที่เคยเป็นพาหนะคู่ใจของนายอดอล์ฟ ลิงค์ ผู้จัดการบริษัทในยุคทศวรรษ 1920 สืบมาจนถึงทายาทรุ่นหลังๆ ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้การได้ดีเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คันที่ได้จำหน่ายแก่ลูกค้าชาวไทยในระยะต่อมาห้างบี.กริมม์ ยังได้จัดหารถใช้งานหลายประเภทให้กองทัพบกและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทย

พ.ศ. 2484 คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ (บุตรสาวของขุนวิจารณ์พานิช ผู้ก่อตั้งบริษัท วิริยะพานิช จำกัด) ได้ก่อตั้งบริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด ขึ้นที่ถนนราชดำเนินกลาง ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อนำสินค้าคุณภาพดีจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาจำหน่าย อาทิ ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุ ยี่ห้อเทเลฟุงเก้น และรถหลากหลายยี่ห้อรวมถึงรถยนต์ชั้นเยี่ยมจากเยอรมันยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ด้วย

รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่นำเข้ามาในยุคแรก เป็นรถบรรทุกสำหรับใช้ในกิจการทหารหรือการขนส่ง ในเวลานั้นรถบรรทุกส่วนมากเป็นรถที่นำเข้าจากอเมริกา มีแต่เครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คุณเล็กและคุณประไพจึงได้นำเครื่องยนต์ดีเซลเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาใส่แทนที่ ทำให้ประหยัดและใช้งานได้ทนทานกว่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักรถบรรทุกและรถโดยสารยี่ห้อ “เมอร์เซเดส-เบนซ์”

เมื่อตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เป็นที่รู้จักอย่างดีแล้ว บริษัท ธนบุรีพานิชเล็งเห็นว่าควรขยายตลาดรถยนต์นั่งให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่มีรถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์จำหน่ายในประเทศไทย คุณเล็กและคุณประไพจึงเริ่มติดต่อโดยตรงกับทางเยอรมนี เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการในประเทศไทยรายแรก

รถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่นแรกที่ทางบริษัทฯ นำเข้ามาก็คือ Benz 170 V โดยนำเข้ามาจัดแสดงที่โชว์รูม ถนนราชดำเนินชุดแรกเพียง 4 คันเท่านั้น กิจการของธนบุรีพานิชได้เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านยอดจำหน่ายและจำนวนพนักงาน เนื่องจากคนไทยรู้จักและประทับใจในคุณภาพของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งหรือรถบรรทุก

ต่อมา คุณเล็กและคุณประไพได้ตั้งบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เพื่อประกอบเฉพาะรถบรรทุกในย่านยศเส และหลังจากนั้นขยับขยายไปที่สวนลุมพินี กิจการค้าและประกอบรถยนต์ของธนบุรีฯ นั้นขึ้นชื่อลือชาทั้งในด้านคุณภาพและบริการ ทำให้มีตัวแทนจำหน่ายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์รายอื่นๆ เช่น ห้างยนต์วิชัย หรือลำปางชัย ทยอยเปิดตัวตามมา

ในปี พ.ศ. 2522 คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ บุตรชายคนโตของคุณเล็กและคุณประไพ ผู้ผ่านการศึกษาและฝึกงานกับบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ประเทศเยอรมนีโดยตรง ได้สร้างโรงงานใหม่เพื่อประกอบทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุกที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ส่วนโรงงานเดิมที่ลุมพินีก็เปลี่ยนเป็นแผนกอะไหล่ทั้งหมด สำหรับโชว์รูมและสำนักงานใหญ่ก็ยังคงตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลางจนถึงปัจจุบัน

ปักหมุด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย

ด้วยศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศ โดยจดทะเบียนบริษัทฯ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2541 ธุรกิจของบริษัทฯ ครอบคลุมทั้งการนำเข้าและประกอบรถยนต์จัดจำหน่ายรถยนต์นั่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งที่เป็นรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รถไครสเลอร์ และรถจี๊ป ทั้งยังให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าแบบครบวงจรอีกด้วย โดยบริษัทฯ ยึดมั่นในปณิธานที่จะรักษาความเป็นหนึ่งในการผลิตรถยนต์ระดับหรู ดีไซน์เลิศและให้บริการที่สามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า

ดาวสามแฉกได้มาส่องสกาวนำทางอยู่บนท้องถนนเมืองไทยนับเป็นเวลากว่า 100 ปี เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้รับความนิยมชมชื่นในฐานะรถคุณภาพชั้นนำที่รับใช้คนไทยสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยมาหลายยุคสมัย จวบจนวันนี้ ได้มีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์โลดแล่นอย่างโดดเด่นเป็นสง่าทั่วประเทศไทยมาแล้วกว่า 100,000 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำแห่งยนตรกรรมเลิศหรูในประเทศไทยอย่างแท้จริง

เมอร์เซเดส-เบนซ์ คุณค่าเหนือกาลเวลา

ยานยนต์ที่กอตต์ ลีบ เดมเลอร์ และ คาร์ล เบนซ์ ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในปี 1886 ณ เมืองสตุตต์การ์ท ประเทศเยอรมนี ได้รับการสานต่อและมีวิวัฒนาการเรื่อยมา ภายใต้นามอันเลื่องชื่อ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และตราสัญลักษณ์ดาวสามแฉกอันทรงคุณค่ากว่าหนึ่งศตวรรษ

นี่คือจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตยนตรกรรมคุณภาพที่ส่งออกไปทั่วโลก และได้รับความนิยมในแวดวงสังคมชั้นสูง สำหรับประเทศไทย เมอร์เซเดส-เบนซ์ คันแรกได้เดินทางมาถึงดินแดนสยามเมื่อปี 2447 ในฐานะ รถยนต์พระที่นั่งคันแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์ยิ่งนัก

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ครบรอบ 110 ปี ของตำนานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย คืออีกหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการนำเข้ายนตรกรรมหลายรุ่น หลายประเภท ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้ามาทดแทนยานพาหนะแบบเก่า ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนโฉมหน้าการคมนาคมของไทย ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนไปสู่ความศิวิไลซ์มากขึ้น

การเดินทางที่ไม่สิ้นสุดของดวงดาวสีน้ำเงิน

สัญลักษณ์ดาวสามแฉกได้เปล่งรัศมีครองความเป็นหนึ่งในโลกยนตรกรรม และครองตำแหน่งรถยอดนิยมตลอดกาล ทั้งยังมีศักยภาพโดดเด่นอย่างมากในตลาดเมืองไทย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ระดับพรีเมียม ที่ให้ความสำคัญกับการดีไซน์ที่สมบูรณ์แบบ เทคโนโลยีการขับขี่ที่คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ กลายเป็นยนตรกรรมที่ทุกคนมุ่งมาดปรารถนาที่จะครอบครองเป็นเจ้าของ ด้วยเหตุที่ว่าสามารถสะท้อนความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และรสนิยมการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

ถึงวันนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังคงไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมและคิดค้นเทคโนโลยียานยนต์ เพื่อกำหนดอนาคตการขับขี่ที่ยั่งยืนของโลกยนตรกรรม รวมถึงการพิชิตใจนักขับขี่เจเนอเรชั่นใหม่ ขณะเดียวกันก็มุ่งดำเนินธุรกิจในเมืองไทย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อลูกค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ก้าวต่อไปของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จึงนับว่าท้าทายอย่างมาก แต่ในฐานะผู้นำแล้ว ต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น สมดั่งคำกล่าวของ กอตต์ลีบ เดมเลอร์ ที่ได้ถ่ายทอดไว้ “The best or nothing”

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ 110 years Mercedes-Benz in Thailand