การแสดงแห่งจิตวิญญาณ

“เมื่อตอนอายุได้สามสิบต้นๆผมเคยได้รับให้เชิดบทตัวเอกในบุงระขุเรื่องใหม่ๆของเอนเอชเค 5-6 เรื่องด้วยกันการได้สร้างตัวละครขึ้นมาเองจากศูนย์ ทำให้ผมเรียนรู้อย่างมากแม้แต่ตัวผมเองก็รู้ว่าการเข้าถึงบทบาทของบุงระขุแบบนี้แตกต่างจากแบบคลาสสิคดั้งเดิม แม้ว่าจะยังเล่นโดยมีแบบแผนแต่ก็มีการเริ่มคิดที่จะใช้อารมณ์เข้ามาร่วมด้วย ผมเคยคิดที่จะตีความส่วนที่ไม่ได้เขียนไว้ใน “โจรุริ” (คำบรรยายที่ใช้ร้องเป็นทำนองเสนาะ ประกอบการแสดงบุงระขุ) ด้วย”

“ทักษะฝีมือเป็นสิ่งที่พอได้เห็นแล้วก็สามารถขโมยไปได้ แต่ก็จะขโมยได้เท่าที่ความสามารถตัวเองรับได้เท่านั้น นักเชิดหุ่นบุงระขุไม่ได้ทำการฝึกซ้อมอะไรเป็นพิเศษ แต่อาศัยครูพักลักจำไปวันๆจากอาจารย์และรุ่นพี่ตามเวทีการแสดง และสั่งสมประสบการณ์การแสดงด้วยการใช้มือและเท้าเชิด ขัดเกลาฝีมือการแสดงไปเรื่อยๆสิ่งที่ต้องจำใส่ใจไว้ทุกวันคือต้องไปเที่ยวดูการแสดงอย่างอื่น เช่นละครโน คาบุกิ ระบำญี่ปุ่น บัลเล่ย์ และดูหนัง เวลาไปปิดการแสดงที่ต่างประเทศหรือเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ผมเองก็มักจะไปดูโอเปร่าและละครเพลงอยู่บ่อยๆ”

“นักเชิดหุ่นในสมัยที่ผมยังเด็กนั้น ผมคิดว่าตามกระแสหลักแล้วต่อให้เป็นนักเชิดหุ่นระดับแนวหน้า ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตีความในแง่ของจิตวิทยาอย่างแท้จริงเท่าใดนัก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผมคิดว่าการสร้างตัวละครอย่างละเอียดลออให้เหมาะกับความคิดอ่านของคนสมัยนี้ก็เริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น”

“ทะยูผู้ที่เล่าเรื่อง ซามิเซ็ง และหุ่น ลมหายใจของสามองค์ประกอบนี้ต้องผสมผสานพอดีกันเป็นหนึ่งเดียว ทางด้านตัวหุ่นเองก็สามารถรู้สึกได้ว่าจิตใจของนักเชิดหลัก นักเชิดด้านซ้ายและนักเชิดขาผสานป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อความเป็นเอกภาพบนเวทีสามารถส่งไปถึงผู้ชมได้ ตัวผู้ชมเองก็จะหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับเวที บรรยากาศแบบนี้จะส่งแรงกดดันผ่านไปถึงผิวหนัง ทำให้รู้สึกปิตีได้อย่างไม่มีอะไรเสมอเหมือน ในช่วงเวลาแบบนี้ก็มักจะคิดขึ้นมาว่าไม่อยากให้วันสุดท้ายของการแสดงมาถึงเลย และในขณะนั้นก็จะรู้สึกเลยว่าในชาติหน้า ต่อให้ต้องไต่เต้าฝ่าฟันจากการเป็นนักเชิดขาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ก็ยังอยากเป็นนักเชิดหุ่นอยู่ ถ้าให้ย้อนนึกถึงประสบการณ์อันทรมานที่เคยเจอมา ก็คงเป็นช่วงเวลาที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการป่วยและต้องออกจากเวทีแสดงไปเพื่อทำกายภาพบำบัดเป็นวลา 8 เดือน ในช่วงนั้นรู้สึกได้เลยถึงความลุกลี้ลุกลน และความแปลกแยกไม่เป็นตัวเอง”

“ต่อให้เกิดใหม่ ก็จะเป็นนักเชิดหุ่น”

คำพูดซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของ คุณมิโนะสุเกะ โยชิดะ รุ่นที่ 3 ศิลปินแห่งชาติ (ปี 2537)

คุณมิโนะสุเกะ เริ่มต้นเชิดหุ่นเมื่อปี 2483 เมื่อปี 2541 ขณะที่ทำการแสดงอยู่ที่โรงละครแห่งชาติ เส้นเลือดในสมองเกิดแตกขึ้นมา แต่คุณมิโนะสุเกะก็เริ่มกลับมาเชิดหุ่นอีกครั้งในปีถัดมา ปี 2542 และในปี 2549 คุณมิโนะสุเกะ โยชิดะ ได้รับเหรียญเกียรติยศ L’Ordre des Arts et des Lettres ของฝรั่งเศส ซึ่งมอบให้แก่ผู้สร้างคุณูประโยชน์ให้แก่วงการศิลปะโลก

บุงระขุ (BUNRAKU) คืออะไร?
บุงระขุ เป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นแบบหนึ่งที่ผสมผสานกันระหว่าง การเล่าเรื่อง การเล่นซามิเซ็น และการเชิดหุ่นกระบอก การแสดงบุงระขุในปัจจุบันมีรูปแบบมาจากการแสดงในสมัยเอโดะตอนต้นหรือประมาณปี ค.ศ.1600 ((พ.ศ. 2143) ซึ่งตรงกับในสมัยอยุธยาของไทยเรา) โดยผสมผสานระหว่างการเชิดหุ่นกระบอกกับโจจูริ (Johruri) ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่นิยมมากในสมัยศตวรรษที่ 15 เข้าด้วยกัน เนื้อหาของเรื่องที่เล่นมักเป็นบทละครที่เรียกว่า “จิโดโมโนะ” (Jidaimono) ซึ่งได้รับความนิยมในยุคศักดินา และบทละครชีวิตร่วมสมัย หรือ “เซวะโมะโนะ” (Sewamono) เป็นเรื่องราวความรักที่ขัดต่อกฏเกณฑ์ของสังคม

ในช่วงยุคทองของบุงระขุ ผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นบทละครของชิกะมัตสึ มอนซาเอมอน (Chikamatsu Monzaemon) และนักเล่าเรื่องชื่อทาเคะโมโตะ งิดายุ (Takemoto Gidayu) ผู้ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. 1684 ได้ก่อตั้งโรงละครทาเคะโมโตะ (Takemoto Theatre) ที่เมืองโอซาก้าด้วย ต่อมาอุเอะมุระ บุนราขุเก็น (Uemura Bunrakuken) ซึ่งพื้นเพเดิมอยู่ที่เกาะอะวาจิ (Awaji Island) ได้เปิดโรงละครขึ้นอีกแห่งในเมืองโอซาก้า ช่วงกลางศตวรรษทื่ 19 ความก้าวหน้าที่โดดเด่นนี้ทำให้ชื่อของเขากลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกการแสดงบุงระขุในปัจจุบัน

หัวใจสำคัญทั้ง 3 ของบุงระขุ คือ ซังเงียว (Sangyo) A Trinity (Sangyo) of BUNRAKU การแสดงหุ่นบุงระขุนั้น
1. คนเล่าเรื่อง จะดำเนินเนื้อเรื่องแบบงิดายุบุชิ (Gidayu-bushi Style) เหมือนการขับลำนำ บทบาทของคนเล่าเรื่องไม่ใช่แค่การเล่า แต่ยังรวมถึงการสร้างฉากด้วยการพูด การเล่าเรื่องภูมิหลังของบทละครนั้นๆและการทำเสียงเลียนแบบบุคลิกภาพของตัวละครที่ตนสวมบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเสียงเด็ก เสียงชายหนุ่ม เสียงชายแก่ เสียงหญิงสาวเสียงหญิงแก่ เสียงโกรธ ร้องไห้ ดีใจ ฯลฯ เหล่านี้นั้นคนเล่าเรื่องจึงต้องใช้ทักษะฝีมือขั้นสูงในการเล่า บางคนกล่าวไว้ว่ากว่าจะทำเสียงให้เหมือนในแต่ละตัวละครนั้นอาจใช้เวลาเกือบตลอดชีวิต คนเล่าเรื่องบางคนกว่าจะทำเสียงได้สมบทบาทอาจมีอายุถึง 70-80 ปีเลยทีเดียว

2. เครื่องดนตรีชามิเซ็น ชามิเซ็นจะช่วยเชื่อมโยงคนเล่าเรื่องให้เข้าใจเนื้อหาและอารมณ์ของเรื่องได้ดีขึ้น ว่ากันว่าโน้ตดนตรีแค่ตัวเดียวของชามิเซ็นที่เล่นในบุงระขุก็สามารถให้เสียงสื่อถึงอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งดูน่าสนใจและน่าเห็นใจได้เช่นเดียวกับนักแสดงที่มีชีวิตจริง

3. หุ่นกระบอกบุงระขุ ในการเล่นบุงระขุต้องใช้คนเชิดหุ่น 3 คนด้วยกัน ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวในวงการหุ่นกระบอก การขยับเพียงเล็กน้อยจะเต็มไปด้วยนัยยะสำคัญต่างๆอันแสดงถึงอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งดูน่าสนใจและน่าเห็นใจได้เช่นเดียวกับนักแสดงที่มีชีวิตจริง
เรื่องราวการแสดงของหุ่นบุงระขุ

การแสดงบุงระขุที่เป็นที่นิยมได้แก่

1. ความรักอันร้อนแรงของโอชิจิกับหอสังเกตการณ์ไฟ และ รายงานด่วนของอุทาโนะสุเกะ
DATE MUSUME KOI NO HIGANOKO-HINOMIYAGURA NO DAN
The Red-Hot Love-The Fire Watchtower
การแสดงชุดนี้สร้างจากเรื่องจริงในสมัยเอโดะ (Edo Period) เป็นเรื่องราวของโอชิจิ (Oshichi) ลูกสาวของพ่อค้าขายผัก โอชิจิมีคู่รักชื่อ คิจิซาบุโระ (Kichizaburo) ซึ่งต้องเข้าพิธีเซ็ปปุกุ (Seppuku) หรือพิธีคว้านท้องในคืนนี้ เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อความผิดที่ทำดาบของเจ้านายหาย โอชิจิรู้ว่าหนทางเดียวที่จะรักษาชีวิตของคนรักคือ ต้องหาดาบให้เจอและต้องส่งดาบนั้นให้ถึงมือของคิจิซาบุโระ ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งหนทางที่ว่าดูจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะประตูเมืองแทบทุกบานถูกลั่นดาลอย่างแน่นหนา โอชิจิรู้สึกสิ้นหวังอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ในสมัยก่อน ถนนสายหลักทุกสายจะมีประตูกั้นอยู่ ประตูเหล่านี้จะปิดลงเวลาเที่ยงคืนเพื่อเหตุผลทางด้านความปลอดภัย การติดต่อในแต่ละพื้นที่จึงถูกตัดขาดลงจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น มีเพียงสิ่งเดียวที่สามารถทำให้ประตูเปิดได้คือ เสียงสัญญาณระฆังเตือน เพลิงไหม้ ถึงแม้โทษของการแกล้งตีระฆังเตือนเพลิงไหม้จะถึงตาย แต่โอชิจิก็ตัดสินใจวิ่งไปยังหอสัญญาณที่อยู่ใกล้บ้าน เธอปีนขึ้นไป ถึงยอดหอคอยแล้วเริ่มเคาะระฆังอย่างบ้าคลั่ง

2. KEISEI HANGONKOU-TOSA NO SHOGEN KANKYO NO DAN “Utanosuke’s Urgent Report”
การแสดงนี้เป็นเรื่องราวของมาตะเฮอิ (Matahei) ก่อนจะได้รับการยอมรับเป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์ด้านศิลปินแห่งโทสะ ชื่อ มิตสึโนบุ โทสะ (Mitsunobu Tosa) มาตะเฮอิมีอาการติดอ่างมาตั้งแต่กำเนิด เขาปรารถนาจะได้รับการยอมรับจากมิตสึโนบุเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นศิลปินแห่งโทสะ อย่างไรก็ตาม มิตสึโนบุไม่เคยตอบสนองต่อคำร้องขอของมาตะเฮอิเลยสักครั้ง โดยเหตุผล วันหนึ่งอุทาโนะสุเกะ (Utanosuke) ลูกศิษย์อีกคนเดินทางกลับมารายงานว่า บุตรสาวของขุนนางซึ่งมิตสึโนบุรับใช้อยู่นั้นถูกศัตรูของบิดาโจมตี

เบื้องหลังโรงละครแห่งจิตวิญญาญ
บุงระขุ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ทะยู ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง คนเล่นซามิเซ็ง และนักเชิดหุ่น สำหรับตัวนักเชิดหุ่นเอง บุงระขุ จะมีนักเชิดหุ่นหลักๆรวม 3 คน เพื่อเชิดหุ่นแต่ละตัว ที่หลังเวทีก็จะยุ่งยากกันอย่างมากนับตั้งแต่วันที่กำหนดโปรแกรมการแสดงจวบจนวันปิดแสดง เมื่อทำการกำหนดบทละครและแบ่งบทกันเรียบร้อยแล้ว นักเชิดหุ่นก็จะทำการตัดสินแบ่ง “ขะชิระ” หรือหุ่นที่จะเชิด ที่ “ขะชิระเบยะ” (ห้องหุ่น) “ขะชิระกาคาริ” (นักทำหุ่น) ก็จะทำการซ่อมแซม ทาสี ตบแต่งหุ่นทุกตัวใหม่ เนื่องจากทุกๆ 20 ปี จะมีการซ่อมแซมหุ่นแบบยกเครื่องครั้งใหญ่ ทั้งลอกแป้งกาว ใช้ไม้อุดรู แล้วทาสีให้เหมือนของใหม่ ทำให้หุ่นที่ใช้ขึ้นแสดงมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังมีสภาพดีอยู่

ส่วนหัวของหุ่นบุงระขุนั้นเมื่อช่างแกะสลักเป็นหัวหุ่นเสร็จแล้ว จะผ่าครึ่งแล้วใส่เทคนิคต่างๆที่จะใช้ในการเชิดเข้าไปในหัวหุ่น สีที่นำมาใช้ในการแต่งหน้าหุ่นจะทำจากเทคนิคดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น คือใช้เปลือกหอยบดนำมาผสมกับยางไม้ แล้วนำมาทาเป็นสีต่างๆของใบหน้า ถัดจากส่วนหน้าจะมีไม้ท่อนนึงที่ต่อเป็นคอหุ่น และถัดจากคอหุ่นจะมีไม้อีกท่อนนึงซึ่งจะผสมผสานเทคนิคต่างๆที่ใช้บังคับหน้าหุ่น

ส่วนตัวของหุ่นด้านในภายในเสื้อกิโมโนที่สวมทับโครงหุ่นไว้ จะมีรูทะลุออกมาข้างหลังตัวหุ่น คนที่บังคับส่วนหัวจะเอามือสอดด้านหลังเสื้อของตัวหุ่น เพื่อที่จะบังคับส่วนหัว แขนขวาของผู้ที่บังคับส่วนหัว จะบังคับแขนขวาของหุ่น คนที่ทำหน้าที่นี้เรียกว่า (Omozukai) เป็นคนเชิดที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดานักเชิดทั้งสามคน คนที่สองจะเป็นคนบังคับส่วนแขนซ้ายของหุ่น คนที่สามจะมีหน้าที่บังคับขาของหุ่น มือซ้ายจะแตกต่างกัน มีไม้แท่งนึงเอาไว้ใช้บังคับมือซ้าย แขนซ้ายมีการบังคับต่างจากแขนขวาเพราะว่าเนื่องจากคนที่รับหน้าที่แขนซ้ายจะอยู่ใกล้กับคนที่อยู่ส่วนหัว ถ้าใช้ไม้ท่อนสั้นๆแบบแขนขวาจะทำให้แขนขวาแขนซ้ายดึงกันไปดึงกันมาไม่สะดวก จึงจำเป็นต้องมีไม้ท่อนนึงเพื่อเป็นส่วนที่บังคับแขนซ้าย ส่วนขาที่เป็นหุ่นผู้หญิงจะไม่เหมือนหุ่นผู้ชายคือมีลักษณะที่จะไม่เห็นส่วนขา คนเชิดที่รับหน้าที่เป็นส่วนขาของหุ่นผู้หญิงจะใช้มือทั้งสองข้างขยับไปมาเพื่อที่จะแสดงการเคลื่อนไหวของขา

คนเชิดหุ่นที่เป็นคนเชิดส่วนหัวก็จะจับไม้ แล้วใช้นิ้วบังคับคันบังคับต่างๆจะเห็นว่ามีเส้นเล็กๆเป็นไม้ไผ่เล็กๆที่เสียบอยู่ ไม้เล็กๆที่ทำจากไม้ไผ่จะเชื่อมอยู่กับตัวบังคับหัวหุ่น โดยใช้ด้ายที่มีลักษณะเหนียวเป็นพิเศษ เป็นด้ายชนิดเดียวกับที่ใช้ทำเครื่องดนตรีซามิเซ็ง ด้านหลังของส่วนหัวหุ่นจะมีสายต่างๆที่เอาไว้บังคับส่วนต่างๆของใบหน้า คนเชิดไม่ใช่แค่ใช้นิ้วดึงขึ้นดึงลงเท่านั้น แต่ร่างกายของคนเชิดต้องเคลื่อนไหวเพื่อแสดงอารมณ์ของหุ่นด้วย

การเชิดหุ่นสำหรับนักเชิดที่ว่ายากมากเนื่องจากต้องเชิดหุ่นจากทางด้านหลัง มองไม่เห็นด้านหน้าของหุ่น ทำให้ลักษณะการเคลื่อนไหวต้องใช้เพียงสัญชาตญาณเท่านั้น

ส่วนกิโมโนและเสื้อผ้าของหุ่นนั้นเย็บตัดเหมือนเสื้อธรรมดา เพียงแต่ขนาดต้องเล็กกว่าของคนจริง ช่างตัดเย็บจึงต้องใช้มือทำทุกขั้นตอนตั้งแต่การย้อมสีไปจนถึงการเย็บ สำหรับละครเรื่องใหญ่ๆแล้วจะเปิดแสดงที่หนึ่งต้องใช้หุ่นออกแสดง 70-80 ตัว มีการยัดนุ่นเพื่อปรับแต่งหุ่นให้ดูตัวใหญ่ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเครื่องประดับเล็กๆน้อยๆทั่วไปอย่างเช่น “โอบิ” (แถบรัดกิโมโน) และสายรัดโอบิไว้ให้พร้อมด้วยจากการตบแต่งศิลป์บนเวทีไปจนถึงเสื้อผ้า ไม่ว่าจะยุ่งยากหนึ่งชั้น สองชั้น หรือสามชั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความชำนาญทั้งนั้น

เมื่อนักเชิดหุ่นได้เลือกหุ่นที่จะแสดงได้แล้ว ช่างทำวิกและช่างแต่งผมจะจัดแต่งผมของหุ่น โดยการติดเครื่องประดับตกแต่งผม ตัวฐานวิกใช้ทองแดงหรืออลูมิเนียมตอกขึ้นมาแล้วเย็บผมที่ทอให้ติดเข้าไป นอกจากนี้ยังมีการจัดแต่งทรงผมและเครื่องประดับผมให้เข้ากับการตีความในแต่ละยุคสมัยด้วย……

โลกยังคงหมุนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เราพยายามค้นหาเทคโนโลยีและวิวัฒนาการใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการอันฟุ่มเฟือยของชีวิต แต่อีกด้านของโลกใบนี้ยังหลงเหลือผู้คนที่ใช้เวลาทั้งชีวิตพยายามรักษาวัฒนธรรมบางอย่างเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นบุงระขุหรือหุ่นละครของไทยเรา ต่างก็ต้องการผู้ที่จะอนุรักษ์ สืบสานและช่วยกันพัฒนา เพื่อส่งต่อลมหายใจของหุ่นเหล่านี้จากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้การแสดงหุ่นจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่จิตวิญญาณในการอนุรักษ์ของนักเชิดหุ่นทุกคนจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

“บุงระขุมีชีวิตอยู่ในแต่ละสมัยตามยุคที่เปลี่ยนไปจริงๆครับ แต่องค์ประกอบของบุงระขุที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ การใช้คน 3 คนเชิดหุ่น และผู้ที่จะขึ้นเวทีแสดงได้ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น” (มิโนะสุเกะ โยชิดะ)

ปี ค.ศ.2003 (พ.ศ. 2546) บุงระขุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) หากใครได้เคยดูการแสดงหุ่นบุงระขุ สักครั้งหนึ่งในชีวิต จะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหุ่นที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนานชนิดนี้ ถึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

 

หิมะโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย เสียงร่ำไห้ของโอชิจิดังก้องอยู่ท่ามกลางความเงียบ เธอกำลังวิ่งตรงไปยังหอระฆังและปีนป่ายขึ้นไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อเธอไปถึงจึงตีระฆังอย่างบ้าคลั่ง…………..หิมะหยุดโปรยปราย แสงไฟทยอยดับลงทีละดวงพร้อมกับความเงียบสงัด ไม่กี่อึดใจเสียงปรมมือก็ดังกึงก้องกังวานไปทั้งหอประชุม……ผ้าม่านค่อยๆโรยตัวปิดลง การแสดงหุ่นบุงระขุอันยอดเยี่ยมจบลงแล้ว

ขอขอบคุณ : นิตยสาร AJ Japan เพื่อการเข้าใจญี่ปุ่นในมุมที่ต่างไป และ เจแปนฟาวเดชั่น กรุงเทพฯ

You may also like...