บัวสาย เรืองนนท์ แห่งคณะเรืองนนท์นาฏศิลป์

หากจะเอ่ยถึง ความแท้ ของ วัฒนธรรม ในยุคสมัยนี้จะมีสักกี่สิ่งอย่างที่ยังหลงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมในรูปแบบอาหาร ประเพณี การละเล่น การแสดงต่างๆ ทั้ง Tangible และIntangibal ทุกอย่างถูกเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ผสมผสาน นำมาผลิตซ้ำสร้างใหม่

โดยผู้สร้างหรือผู้มีส่วนร่วมมักนิยมใช้คำว่า เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอด เปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่ได้ คำว่า อยู่ได้ และ อยู่รอด นั้นไม่ได้หมายถึง การที่ตัว วัฒนธรรม นั้นๆจะคงอยู่ได้อย่างเดียว แต่หมายรวมถึง อาชีพ รายได้ ปากท้องความเป็นอยู่ของผู้สร้างและผู้เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการแสดงทางวัฒนธรรมที่มีการอนุรักษ์เป็นมรดกมาอย่างยาวนานและต้องอาศัยการสืบทอดส่งต่อผ่านรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีใจรัก มีเจตนาจะสิบสานให้วัฒนธรรมนั้นๆดำรงอยู่

เหมือนกับ ละครชาตรี ศิลปะการแสดงละครอันเก่าแก่ของคณะเรืองนนท์นาฏศิลป์ คณะครูทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงละครชาตรี พ.ศ. 2540 จะมีสักกี่คนที่รู้จักและเคยได้ชมการแสดงจริงๆสักครั้ง แต่ด้วยความผูกพันและใจรัก คุณบัวสาย เรืองนนท์และคณะ (ทายาทเรืองนนท์) จึงตั้งใจที่อนุรักษ์และสืบทอดการแสดงที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดนี้ ให้ยังดำรงอยู่ต่อไป แม้ในยุคสมัยที่เป็นความอ่อนล้าทางการแสดงด้านวัฒนธรรม คุณบัวสายเองก็ไม่แน่ใจว่าละครชาตรีจะยังคงอยู่ไปอีกนานแค่ไหน

ละครชาตรีของบ้านเรืองนนท์
ละครชาตรีมีหลายที่ แต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์และแบบแผนเป็นของตัวเอง ซึ่งเราก็ยอมรับในแบบของแต่ละที่ แต่ถ้าเป็นละครชาตรีของตระกูลเรืองนนท์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต้นตระกูลคือ พระศีรชุมพลฉี ซึ่งเป็นคนภาคใต้ ชาวนครศรีธรรมราช คุณปู่ของพี่คือ ครูพูนเรืองนนท์ ซึ่งได้รับการเรียนรู้มาจากพระศรีชุมพลฉีในเรื่องของด้านละครชาตรีและโนราห์ พอช่วงรัชกาลที่ 3 ก็อพยพมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่ถนนหลานหลวง เมื่อก่อนเรียกบริเวณนี้ว่าสนามควาย

ย่านนี้เป็นที่รู้กันว่าคือย่านละคร แต่ถ้าอยากดูละครชาตรีที่สนุกถูกต้องอย่างมีแบบแผนที่สุดก็จะเป็นละครของครูพูน เรืองนนท์ สมัยก่อนละครของบ้านเรืองนนท์ เอกลักษณ์ที่มีอย่างนึงคือ ตัวละครที่เล่นทั้งหมดไม่ได้เป็นคนอื่นเลยเป็นลูกเป็นหลาน เช่น ลูกผู้หญิงก็มาเล่นเป็นตัวละคร ถ้าเป็นผู้ชายอย่างคุณพ่อก็จะเป็นนักดนตรี คุณปู่จะมีลูกทั้งหมดสิบแปดคน ทั้งผู้หญิงผู้ชาย เพราะฉะนั้นทุกคนจะเป็นหมด ละครชาตรีของพี่มันไม่ได้ถูกฝึกมาแบบฉบับของนาฎศิลป์เหมือนสถาบันพัฒนศิลป์ในปัจจุบัน มันไม่ได้มีการเรียนการสอน แต่มันเกิดมาจาก หนึ่ง สายเลือด คือ เติบโตมากับสายเลือด สอง ในสมัยก่อนพ่อของพี่เล่าให้ฟังว่า ถ้ามีการแสดงในสมัยก่อนลูกหลานก็จะไปด้วย ลูกของปู่ก็จะไปด้วย คนที่แสดงก็แสดงไป ถ้ายังเป็นเด็กๆอยู่ก็จะนั่งดู แล้วปู่จะมีการคัดเลือกว่า คนนี้จะแสดงเป็นตัวนี้ได้ คนนี้เป็นนางเอกได้ คนนี้จะเป็นตัวอะไรก็แล้วแต่เค้าก็จะบอกกับลูกเค้าแต่ละคนเลย ทุกคนก็จะใช้ความจำเอา สมัยก่อนมันเริ่มจากการใช้ความจำ แล้วปู่ก็จะบอกให้ไปเล่นไปแสดง ในสมัยคุณอาของพี่จะเก่งมาก เค้าสามารถจำบทได้เลย อย่างตัวคุณพ่อพี่ก็จะเป็นนักดนตรีไทย เล่นดนตรีไทยได้ทุกชิ้นเลย บางคนก็แสดงเป็นตัวตลก ละครชาตรีของบ้านเรืองนนท์จะมีสืบทอดต่อกันมาแบบนี้ สมัยคุณพ่อนี่มีการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่พวกพี่เชื่อว่าถ้ามีในสมัยคุณปู่ คุณปู่คงได้ เพราะศิลปินแห่งชาติมันเพิ่งมีในสมัยนี้ ก็เลยมาได้ในสมัยคุณพ่อ เพราะฉะนั้นคณะละครชาตรีครูพูนเรืองนนท์มันเพิ่งมีชื่อเสียงในสมัยนี้ แล้วเราก็สืบทอดกันมา

ถามว่าละครชาตรีจริงๆ มันก็เริ่มมาจากโนราห์ โนราห์ขาตรีเนี่ยแหล่ะ แต่พอมันเข้ามาอยู่ภาคกลางแล้ว ภาษาที่ใช้ คำพูดที่ใช้ มันเป็นภาคกลางเท่านั้นเอง ถ้าถามว่าอะไรที่ยังคงเป็นโบราณอยู่ ก็คือเครื่องดนตรีที่ใช้แสดง มันก็ยังจะมีกลองตุ๊ก มีโทน มีปี่ มีกรับและก็ฉิ่ง ห้าอย่างเท่านั้นเอง แล้วสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับละครชาตรีก็คือ ลูกคู่ ลูกคู่หมายถึงคนที่จะต้องร้องรับเวลาที่ตัวละครร้อง เราต้องช่วยรับ ทีนี้หลักของละครชาตรีมีสามอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เลยของละครชาตรี คือ หนึ่ง การโหมโรงชาตรี สองการร้องประกาศหน้าบท การโหมโรงชาตรีคือ ก่อนจะมีการแสดงต้องมีการโหมโรงด้วยพิณพาทย์ ด้วยปี่กลอง การร้องประกาศหน้าบทก็คือ คนที่ขึ้นต้นเป็นโต้โผหรือหัวหน้าคณะจะต้องเป็นคนร้องประกาศหน้าบท เพื่อจะทำการเคารพเจ้าที่เจ้าทางที่เราจะขึ้นทำการแสดง อันที่สามคือการรำซัดหน้าบทหรือรำซัดหน้าเตียง แล้วถึงจะเริ่มเรื่องการแสดงละครชาตรี ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไปดูละครชาตรีที่ไหน ไม่มีสามอันนี้เค้าจะเรียกว่าละครนอก แต่ถ้าการเล่นละครชาตรีต้องมีสามอย่างนี้เป็นหลัก ถามว่าเป็นเหมือนละครชาตรีทั่วไปไหม การโหมโรงอาจจะเหมือนกัน แต่การร้องประกาศหน้าบท การรำซัดหน้าบทของบ้านเรืองนนท์ ก็จะมีแบบแผนของเรา ซึ่งพี่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด บอกได้ว่าไม่รู้ แต่พี่โตขึ้นมาได้รับการถ่ายทอดมามันเป็นแบบนี้ ถามว่ามีคนที่รำซัดหน้าบทไหม มี แต่อาจจะไม่ได้ร้องเหมือนกันอย่างเดียวกัน เค้าทำไม่เหมือนเราพี่ก็ไม่เคยว่าเค้าผิด นี่คือแบบแผนของเค้า เพราะฉะนั้นการที่ถามว่าที่เราสืบทอดกันมาแบบนี้ เราออกงานไปเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆมากมาย เป็นวิทยากรที่นู่นที่นี่ อาจจะไม่ได้มีการกระทู้อะไรกลับมา กระทู้อะไรกลับมาไม่ได้มาก เนื่องจากคุณพ่อถูกยกย่องให้เป็นศิลปินทางสาขานี้ด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะไม่มีคำว่าผิดสำหรับคุณพ่อ แต่เมื่อสิ้นคุณพ่อก็จะมีพี่ชายคนโต พี่ปูเป็นตัวแทน ซึ่งจะออกไปพูด ออกไปรำซัดหน้าบท เป็นวิทยากร ก็อาจจะเป็นกระทู้กลับมาได้ แต่ทุกอย่างที่เราออกไปแสดงมันเป็นของบ้านเรืองนนท์ เพราะว่าพี่ปูไม่ได้ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขานี้ จะมีกระทู้เข้ามา แต่สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เรากระทำทุกอย่างมาจากสิ่งที่เราถูกสืบทอดมา ณ ปัจจุบันนี้ ละครชาตรีแท้ๆและถูกแบบแผนจริงๆพี่ว่ามี แต่น้อยมาก อาจจะมีที่ใกล้เคียงน่ะเยอะ ถามว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าสมัยคุณพ่อ สมัยของอา ของปู่ไหม ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันก็คงไม่น้อยไปถึงห้าสิบเปอร์เซนต์ เพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยน ฉะนั้นการแสดงแต่ละครั้งของเรามันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การแสดงมันรวดเร็วขึ้น แต่คณะละครชาตรีบ้านเรืองนนท์ยังคงไว้สำหรับความเป็นละครชาตรีของบ้านเราแท้ๆ

คณะเรืองนนท์นาฏศิลป์มีการรับงานแบบไหนบ้าง
รับงานทั่วไป รับทั้งละครชาตรีแท้ๆแล้วก็รำแก้บนอย่างที่เราเห็นในศาลพระภูมิ หรือแม้แต่ละครนอกที่ไม่ใช่ละครชาตรี แล้วก็ดนตรีไทย ยังดูแลอยู่เหมือนเดิมหมด เพียงแต่ว่าปัจจุบันนี้เราไม่มีหนังตะลุง บ้านเราไม่มีแล้ว แต่เรายังรับนาฎศิลป์เหมือนเดิม เช่น นาฏศิลป์ไทย รำไทย
ตอนนี้ละครชาตรีเราคงคอนเซปต์ว่าเป็นพี่น้อง แต่สมัยนี้หมดแล้ว คุณอา คุณพ่อ ลูกของคุณปู่หมดแล้ว ก็เหลือแต่รุ่นเราที่เป็นลูกหลานของปู่ก็ยังเล่นคอนเซ็ปต์ของคนในคณะ ยังเป็นรุ่นหลานอยู่ มีประมาณยี่สิบคน ต้องฝึกเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เราสามารถใช้เด็กที่เป็นเด็กนาฎศิลป์มารำได้แล้ว
ความเปลี่ยนแปลงของละครชาตรีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

มันไม่ใช่แต่เฉพาะละครชาตรี มันเกี่ยวกับการละเล่นที่เป็นของไทยทั้งหมด แต่ละครชาตรีมันก็มีน้อยมาตั้งแต่สมัยปู่แล้ว สมัยก่อนละครชาตรีเป็นละครแก้บน คนสมัยก่อนจะนำละครชาตรีไปรำแก้บน แต่ถามว่า ปัจจุบันนี้คนที่จะมาหาละครชาตรีเล่นไม่ค่อยมีใครดูหรอกนะ เค้ามาหาเพราะจะให้ไปรำถวายเฉยๆ อันนี้จะเยอะหน่อย ก็มีผลกระทบค่อนข้างเยอะ พี่จะไม่ไปเปรียบกับเด็กสมัยนี้ ตัวพี่เองถึงจะเติบโตมาในตระกูลนี้ แรกๆก็ยังไม่ค่อยสนใจเลย สมัยที่พ่อพี่ยังไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ อย่างที่บอกการเรียนของเราไม่ได้เกิดมาจากสายเลือด แต่พอมาถึงรุ่นพี่ คุณพ่อจับเรียนวิทยาลัยนาฎศิลป์หรือสถาบันพัฒนศิลป์ปัจจุบัน

พ่อพูดว่าสมัยก่อนไม่ต้องมีใบประกาศคนก็ยอมรับ แต่มาถึงสมัยเราต้องมีใบประกาศเพื่อให้คนรู้ว่าคุณมีความรู้ทางด้านนี้ ถึงจะไปประกอบอาชีพได้ สมัยนี้ไปเล่นละครหนึ่งวัน แล้วเอาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีทาง แต่สมัยคุณปู่พี่คุณพ่อพี่นี่สามารถ ปู่เมียห้าคน ลูกสิบแปดคน ยังเลี้ยงได้ พ่อพี่ลูกสิบคน เลี้ยงแบบส่งเรียนหมดทุกคนด้วย เลี้ยงทุกคนด้วยอาชีพที่เค้าเป็นละครเป็นพิณพาทย์นี่แหล่ะ แต่ถามว่ามาถึงยุคเรามันไม่ได้เพราะอะไร เพราะปัจจุบันมันไม่ได้มีงานเยอะแบบนั้น ถ้าถามว่าอาชีพศิลปินเป็นอาชีพของคุณพ่อไหม เป็น เป็นละครเป็นพิณพาทย์ แต่ถ้ามาถามพี่ พี่ไม่ใช่ พี่เป็นราชการ พี่เป็นครู พี่ต้องมีงานทำ ถ้าไม่มีงานไม่ได้ ไม่เป็นครูไม่ได้ พี่ต้องนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่คุณพ่อพี่นี่ ขึ้นชื่อว่าเป็นโต้โผ ปู่ของพี่นี่เป็นโต้โผ คุณพ่อเป็นโต้โผ จ่ายลูกน้องแล้วก็เหลือเงินมาเลี้ยงครอบครัว พอเราได้เป็นโต้โผเหมือนกัน เรารับงานปุ๊บเราก็จ่ายให้ลูกน้อง เราถึงเหลือเงินก็นำมาเลี้ยงครอบครัว แต่เงินเล่นละครอย่างเดียวเลี้ยงครอบครัวไมได้หรอก ไม่ใช่เราจะดูถูกอาชีพละคร เพราะฉะนั้นรุ่นหลังจากพี่ไปคือรุ่นลูกหลานพี่นี่เค้าคงไม่เอา หลานพี่ หลานชาย หลานสาว ให้มารำซัดละครเนี่ยไม่เอา เพราะว่าถ้าเค้าเรียนนาฎศิลป์จบไปเป็นครูเค้าก็ไปสอนในสายอาชีพของครูนาฎศิลป์ อย่างที่บอกสมัยนี้มันเปลี่ยนเยอะ จะให้เค้าลงมาทำอย่างเราเต็มที่ไม่ได้ เพราะเรายังอยู่ไม่รอดกับอาชีพแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าครูบาอาจารย์เราจะทิ้งนะ แม้แต่เด็กในคณะต้องมีอาชีพหลักของตัวเองต้องมีงานทำ สมัยนี้คนจะมาหาเรา ทีมเรามีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะอะไร เพราะค่าตัว ค่าแรงของลูกจ้างลูกทีมเรามันสูงขึ้น สมัยพ่อพี่รับงานได้เป็นพัน จ่ายลูกน้องคนละร้อยสองร้อย สมัยเรามันไม่ได้ บางคนห้าร้อยต่อวัน คนนึงไปคณะละเป็นสิบคน เพราะฉะนั้นเงินต้องได้เป็นหมื่น ค่าใช้จ่ายเป็นหมื่น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น คนที่จะมาหาก็คือ ชั้นอยากได้ตรงนี้จริงๆชั้นอยากดูละครชาตรีจริงๆ

ฝากละครชาตรีของคณะครูพูน เรืองนนท์ (ทองใบ เรืองนนท์) กับทุกคน ให้ละครชาตรีได้อยู่ไปนานๆ การที่เราจะยังอยู่ตรงนี้ได้เพราะมีคนสนับสนุน มีหน่วยงานสนับสนุน สำหรับเด็กรุ่นใหม่ อยากฝากบอกว่าการที่คุณอยากจะเป็นดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย ถ้าคุณไม่ได้เป็นด้วยใจ มันเป็นยากมาก เพราะฉะนั้นการแสดงเหล่านี้มันจะถูกลบไปไม่ได้ถ้าเด็กไทยไม่ลบมันไป แต่ถ้าคุณเลือกเรียนประกอบอาชีพทางด้านนี้ คุณต้องทำให้ดีที่สุด เพราะไม่ว่าวันใดถ้าคุณไปอยู่ที่ไหนก็ตามคุณก็ได้ชื่อว่าเป็นคนไทย

ทองใบ เรืองนนท์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ละครชาตรี) พุทธศักราช 2540
บัวสาย เรืองนนท์ (ผู้จัดการ)
ละครชาตรี นาฏศิลป์ไทย และดนตรีไทย (คณะเรืองนนท์นาฏศิลป์)
193 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ : 02-282-4918 มือถือ : 089-452-6712

ว่าด้วยละครชาตรี
ละครชาตรี นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณ และมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ มีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า “ยาตรี” หรือ “ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว ละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นละครเร่ นิยมเล่นเรื่อง “คีตโควินท์” เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง ๓ ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว ส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา จึงอาจเป็นได้ที่ละครไทยอาจได้แบบอย่างจากละครอินเดีย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก

ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย เรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า “โนห์ราชาตรี” เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้า สันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ ครั้ง คือ
ใน พ.ศ. ๒๓๑๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร
ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ในวานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบ และระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย รวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี

นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา ขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขร ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า “โนห์รา” เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้ แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น ในสมัยต่อมา การละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆอย่างแท้จริงก็ต้องดูโนห์รา

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า “ละครชาตรีเข้าเครื่อง” หรือ “ละครชาตรีเครื่องใหญ่” การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสม คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ของละครนอก การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จับเรื่องด้วย “เพลงวา” แบบละครนอก ส่วนเพลง และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี และละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ

ผู้แสดง
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่
การแต่งกาย
ละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดง ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น การผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง ไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้ ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง”

เรื่องที่แสดง
ในสมัยโบราณ ละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับรถเสน (นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก (สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์ ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสร แก้วหน้าม้า ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ วงษ์สวรรค์ – จันทวาท ตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร กายสุวรรณ อุณรุฑ พระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี

การแสดง
เริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรี ตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลง การรำซัดนี้สมัยโบราณขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วย เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และการกระทำย่ำยีต่างๆ วิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย เรียกว่า “ชักใยแมงมุม” หรือ “ชักยันต์” ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่อง ตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียง ตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัว และเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวาเรียกว่า “คลายยันต์” เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง

ดนตรี
วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี ปี่ สำหรับทำทำนอง ๑ โทน ๒ กลองเล็ก (เรียกว่า “กลองชาตรี”) ๒ และฆ้อง ๑ คู่ แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้ มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย

เพลงร้อง
ในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน และร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า “ชาตรี” อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง

สถานที่แสดง
ใช้บริเวณบ้าน ที่กลางแจ้ง หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย แม้ฉากก็ไม่ต้องมี บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก ๑ เสา เสานี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่างๆ) เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว

ที่มา : กรมศิลปากร

You may also like...