พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางนา
ด้วยชื่อนั้นก็บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงที่มาของเขตบางนาได้เป็นอย่างดีแล้ว เดิมนั้นเป็นที่นากว้างขวางสุดลูกหูลูกตาอีกเขตหนึ่ง มีแม่น้ำคูคลองอุดมสมบูรณ์ให้ชาวบ้านได้อาศัยทำมาหากินกัน ทั้งการทำนาและการปลูกผักหาปลาริมคลอง ทั้งคลองบางนา คลองจาก หรือคลองวัดบางน้ำผึ้ง การเดินทางทางน้ำนั้นสะดวก เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นจึงได้เข้ามาตั้งค่ายในเขตบางนานี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการขุดพบดาบและปืนของทหารญี่ปุ่นในบริเวณนี้
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางนา ตั้งอยู่ในวัดบางนาใน ภายในพื้นที่จัดแสดงนี้ได้จัดแสดงภาพถ่ายที่สวยงามมีฝีมือ มีตัวอย่างข้าวของเครื่องใช้จริงที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชาวบางนามากมาย ทุกจุดได้รับการจัดวางอย่างเหมะสมเพื่อเล่าเรื่องต่างๆได้อย่างครบถ้วนน่าสนใจยิ่ง
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
นิทรรศการแรกที่จะพาไปรู้จักกันก็คือประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆของท้องถิ่นบางนา เริ่มแรกจากที่มาของชื่อ อย่างที่ได้เกริ่นให้ทราบแล้วว่าสืบเนื่องมาจากที่เคยเป็นพื้นที่ที่มีทุ่งนาอันกว้างขวาง ที่ทำนาได้มากมายขนาดนี้ก็ย่อมเป็นเพราะมีน้ำเหลือเฟือเหลือใช้ ก็เพราะมีคลองบางนา ซึ่งเชื่อมกับคลองพระโขนง และยังมีคลองบางจาก คลองวัดบางน้ำผึ้ง ทำให้ไปมาสะดวก มีน้ำกินน้ำใช้ไม่เคยขาด
มุมจัดแสดงต่อมาเล่าถึงความเป็นเขตอุตสาหกรรม และการเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกของไทย แต่เรื่องราวที่ชวนติดตามอย่างมากนั้นเป็นเรื่องของชาวมอญ ชาวมอญบางส่วนได้อพยพเข้ามาอาศัยเป็นการถาวรจากเขตพระประแดง ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประเพณีอันสวยงามของชาวมอญได้แก่ การเล่นสะบ้าในประเพณีสงกรานต์ ซึ่งหาดูได้ยากและสมควรได้รับการสืบสานต่อไป
ของดีและแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในเขตบางนา อาทิ บ้านเรือนไทยศรีเพียงเพ็ญ ที่อยู่ในบริเวณวัดศรีเมืองได้ทำการปลูกสร้างตามแบบโบราณโดยไม่ใช้ตะปูสักตัวเดียว แต่ใช้ไม้เป็นเดือยเข้าข้อ เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ในขตบางนาเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธิที่ทำคุณประโยชน์แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สร้างความรู้การงานและอาชีพ
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางนา
ตั้งอยู่ที่วัดบางนาใน 3322 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
โทรศัพท์ : 02-398-3758
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์
เวลา 8.30 น.-16.30 น.
สำนักงานเขตบางนา
120/18 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
โทรศัพท์ : 02-397-3696-7, 02-397-3593
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333
ขอบคุณภาพประกอบจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย