พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ
ภาพท้องทุ่งเขียวขจีสุดลูกหูลูกตานั้น เป็นภาพที่แสนสวยงามยิ่งในอดีตของเขตบางซื่อ ที่ประชาชนชาวท้องถิ่ได้อาศัย และทำการเกษตรกรรม ทำสวนเป็นอาชีพกันเรื่อยมาอย่างสงบสุข เขตบางซื่อนี้มีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่ยังมั่นคงยืนตระหง่านให้ลูกหลานได้ชื่นชมอยู่ นอกจากนี้เขตบางซื่อยังเป็นเขตที่ได้รับความนิยมมาจดทะเบียนสมรสไม่แพ้เขตบางรักเลย ด้วยเพราะชื่อนี้เป็นสิริมงคลและมีความหมายสำคัญที่สุดแก่คู่แต่งงานทุกคู่
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดสร้อยทอง จัดแสดงของดีของเด่นมากมาย เริ่มตั้งแต่ประวัติอันสวยงามของความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความชำนาญเฉพาะด้านในการอาชีพที่หาค่าไม่ได้ ศิลปะการประดิษฐ์ตามแบบโบราณของเครื่องโขน เครื่องดนตรี บุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่งดงามของไทย วัดวาอารามพระพุทธรูป ความศรัทธาที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งหมดนี้จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมนิทรรศการจัดแสดงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ความภาคภูมิใจของท้องถิ่น อาทิ สะพานพระราม 6 เป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศ โรงเผาอิฐสะพานพระราม 6 ชุมทางบางซื่อ สถานีรถไฟสายสำคัญ ถนนสายไม้ที่ซอยประชานฤมิตร แหล่งรวมเครื่องไม้ที่ใหญ่ที่สุด ในด้านการแกะสลักไม้ ได้รับการสืบทอดมาจากชาวจีนจากวัดญวนบางโพ นิทรรศการภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชุมชนเขตบางซื่อ มีวัดที่ขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ถึง 9 วัด อาทิ วัดสร้อยทอง, วัดบางโพโอมาวาส, วัดอนัมนิกายาราม เป็นต้น มีภาพแสดงการทำกระดาษข่อยแบบโบราณ การทำหัวโขนที่ชุมชนสะพานไม้ที่สืบทอดกันมากว่า 30 ปี และอุตสาหกรรมเครื่องไม้ที่ซอยประชานฤมิตร
นิทรรศการบุคคลสำคัญ อาทิ ชาย เมืองสิงห์ ผู้เป็นนักร้องเจ้าของบทเพลงอมตะนิรันดร์กาล, สาคร ยังเขียวสด หรือ โจหลุยส์ ผุ้สืบสานศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก, ครูสำรวย เปรมใจ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญเป็นเลิศด้านดนตรีไทย โดยเฉพาะเป็นผู้ประดิษฐ์อังกะลุงแบบใหม่ เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ
ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดสร้อยทอง ถนน ประชาราษฏร์สาย 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800
โทรศัพท์ : 02-585-5101
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.-16.00 น.
สำนักงานเขตบางซื่อ
99 ซอยกานต์ประภา ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800
โทรศัพท์ : 02-225-7612-4
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333
ขอบคุณภาพประกอบจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย