นรกใน Devine Commedia ของดังเตกับนรกในในไตรภูมิพระร่วง


หลังจากที่ผมทำแบบทดสอบอันหนึ่งซึ่งสามารถระบุบอกได้ว่าเมื่อตายไปแล้วผมจะไปอยู่ในส่วนใดในนรกของดังเต อลิเกียรี (1265-1321) กวีเอกชาวอิตาเลียน ผู้ประพันธ์ Divina Commedia (ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับแบบทดสอบนี้ผมจะเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่ง) ผมก็พอจะเริ่มมองเห็นภาพว่า โลกทัศน์ของดังเตเกี่ยวกับบาปและชีวิตหลังความตายนั้นไม่อาจแบ่งแยกออกจากกัน


หากแต่บาปกับกรรมของชาวพุทธจะเป็นเรื่องเดียวกัน หรือมีความแตกต่างอย่างไร ผมยังตอบไม่ได้ ดังนั้นผมจึงไปสืบค้นมาเพื่อเปรียบเทียบกันโดยอาศัยเนื้อหาใน ไตรภูมิพระร่วง ที่น่าจะมีความเก่าแก่และให้ภาพพจน์ของโลกหลังความตายกว้างขวางที่สุด (หรือที่สำคัญเป็นวรรณกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันคือในปีพ.ศ. 1888 หรือปีค.ศ. 1345)

ก่อนที่จะกล่าวถึงแบบทดสอบ ผมอยากเล่าประวัติความเป็นมาของดังเตและผลงานของเขาที่ชื่อว่า Divina Commedia กันสักเล็กน้อย ดังเต อลิเกียรี ( Dante Alighieri) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1265 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ในครอบครัวขุนนางต่ำศักดิ์ เมื่อมีอายุได้ยี่สิบปี ดังเตก็ทำการสมรสกับเกมมา โดนาติและมีบุตรกับนางด้วยกันทั้งสิ้นสามคน ดังเตเข้าเรียนที่โบโลญญ่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วงวัยหนุ่มดังเตคบค้าสมาคมกับคีตกวีหรือศิลปินที่มีชื่อเสียงและอิทธิพล ณ เวลานั้นหลายคน ดังเตหลงรักเบียทริชสุภาพสตรีผู้สูงศักดิ์คนหนึ่ง กระทั่งเขาเขียนกลอนยาวและประพันธ์ Vita Nuova เพื่ออุทิศแด่เบียทริชหลังจากเธอเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1290

ส่วนผลงานของเขาที่มีชื่อว่า Divina Commedia นั้นประพันธ์ขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 14 คือหลังจากที่เขาได้ลี้ภัยทางการเมืองและไปศึกษาต่อที่ปารีส กระทั่งใช้ชีวิตในบั้นปลายของเขาในสถานกักกันรเวนนาที่ซึ่งดังเตได้อุทิศเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตเพื่อเขียนผล Divina Commedia จนเสร็จสมบูรณ์ ก่อนหน้าที่เขาจะสิ้นลมเพียงไม่นาน

Divina Commedia นั้นแบ่งออกเป็น 3 ภาคด้วยกัน ภาคที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราพูดถึงกันอยู่มีชื่อว่า Inferno ซึ่งแปลได้ว่า เพลิงโลกันตร์ หรืออีกนัยก็คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยเปลวไฟ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าโลกหลังความตายของดังเตนั้นประกอบไปด้วยสามโลกคือ นรก ( Inferno) แดนชำระ ( Purgatorio) และสรวงสวรรค์ ( Paradiso) และในแต่ละภพภูมินั้นก็คือแต่ละภาคของ Divina Commedia นั่นเอง ดังเตไม่ได้ใช้อรรถกถาธรรมดาๆ เพื่อพรรณนาภาพพจน์โลกหลังความตายของคริสเตียน หากเขาใช้กลวิธีทางการประพันธ์ที่แนบเนียนกว่าด้วยการนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดในฐานะที่เขาได้พบเห็นโลกทั้งสามมาแล้ว โดยที่มีเวอจิลมหากวีชาวโรมันเป็นมัคคุเทศน์นำชม

ประตูสู่นรกตั้งอยู่ใต้นครเยรูซาเลม โครงสร้างของแดนนรกสามารถแบ่งออกเป็นสามระดับกว้างๆ คือนรกชั้นบน นรกชั้นล่าง และใจกลางโลกอันเป็นที่พำนักของซาตาน นรกชั้นบนและชั้นล่างถูกกั้นไว้ด้วยกำแพงแห่งดิส (Dis) ในแต่ละชั้นนั้นสามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ ได้อีกโดยจำแนกจากประเภทของบาป ซึ่งในส่วนย่อยนี้ดังเตเรียกว่า Cycle หรือ ‘ วงจร ‘ ดังนั้นยิ่งลำดับของ ‘ วงจร ‘ มากเท่าไร วงจรดังกล่าวก็ยิ่งเข้าใกล้ศูนย์กลางของโลก (จะมองว่าสัญฐานของนรกในทัศนะของดังเตเป็นรูปทรงกรวยที่ปลายแหลมดิ่งสู่ใจกลางโลกก็คงไม่ผิดแต่ประการใด) ซึ่งวงจรทั้งหมดสามารถแบ่งออกเป็นอีก 9 วงจร

กลับมาที่เรื่องของแบบทดสอบที่ผมได้กล่าวถึงไว้ในตอนต้น ซึ่งเป็นการตอบคำถามแบบใช่-ไม่ใช่ โดยคำถามที่ใช้ในแบบทดสอบนี้ก็เป็นคำถามโดยทั่วไปที่ส่วนหนึ่งได้ปรับเปลี่ยนให้เข้าวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างเช่นคำถามว่า เคยอยากอยากได้รถสปอร์ต-รถ SUV บ้างไหม? สนุกกับการเล่นวีดีโอเกมแนวรุนแรงฆ่าล้างผลาญหรือไม่? เคยไปดูระบำเปลื้องผ้าไหม? หรือบางคำถามก็เป็นคำถามแนวฮาร์ดคอร์ที่เจาะลึกโดยเฉพาะพฤติกรรมทางเพศเช่น คุณมีรสนิยมรักร่วมเพศหรือไม่? สำเร็จความใคร่บ่อยไหม? หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งหนึ่งกับคนหลายคนหรือไม่?

ผมไม่รู้ว่าแบบทดสอบนี้มีมาตรฐานหรือเกณฑ์การตัดสินเป็นอย่างไร หากผมค่อนข้างแน่ใจว่าแบบทดสอบดังกล่าวอาจจะช่วยให้เราเข้าใจโลกหลังความตายในมุมมองของดังเตมากขึ้น ดังนั้นผมจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะตอบให้ตรงต่อความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งเมื่อผลลัพธ์ทั้งหมดได้ประมวลออกมาแล้ว ผมก็ถูกจัดส่งไปอยู่ในนรกวงจรแรกที่เรียกว่า ลิมโบอันเป็นภพภูมิสำหรับคนที่ไม่ได้ทำพิธีรับศีล

วงจรแรกนี้เป็นดินแดนที่ไม่มีการทรมาน บรรยากาศคล้ายคลึงกับโลกที่เราอยู่หากปกคลุมไปด้วยความเศร้า นรกชั้นนี้ตามทัศนะของดังเตเป็นที่รวมของกวี นักปรัชญา หรือศิลปินจำนวนมาก จะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผมหรือไม่คงไม่ใช่ประเด็น หากประเด็นคือในนรกชั้นนี้ผมจะได้อยู่ร่วมกับศาสดาของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่คริสเตียนด้วย

ต่อประเด็นนี้ ผมเริ่มมองเห็นว่า แผนผังความคิดเกี่ยวกับทั้งสามโลก ได้สร้างระเบียบครอบทับโลกความเป็นจริงอีกชั้นหนึ่ง กล่าวอีกทางมันเหมือนการเข้าไปสร้างคำอธิบายและจำแนกสรรพสิ่งด้วยกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้น (โดยมีต้นแบบจากพระคัมภีร์ผสมผเสกับตัวบททางวรรณกรรม) และเหมือนอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าโลกทัศน์ของดังเตเกี่ยวกับบาปและชีวิตหลังความตายนั้นไม่อาจแบ่งแยกออกจากกัน สาระการกระทำของดังเตจึงเน้นไปที่ ‘ บาป ‘ ซึ่งเป็นบาปในมุมมองแบบคริสต์ อันมีศูนย์กลางทั้งหมดการตัดสินอยู่ที่ ‘ พระเจ้า ‘ ซึ่งเราสามารถพูดอีกทางหนึ่งได้ว่า พระเจ้าคือ ‘ สัจจะ ‘ ของระเบียบที่ว่านี้

จาก Inferno หรือนรกของดังเต ผมจึงนำเอา ไตรภูมิพระร่วง ฉบับพระญาลิไทย มาพิจารณาเปรียบเทียบโดยจะขอเริ่มด้วยการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ ไตรภูมิพระร่วง กันสักเล็กน้อย

ต้นฉบับของไตรภูมิพระร่วงของพระญาลิไทยนั้นสาบสูญไปโดยสมบูรณ์แล้ว หากที่เราอ่านหรืออ้างอิงกันอยู่นั้นเป็นการคัดลอกกันต่อๆ มา เรื่องราวเกี่ยวกับพระญาลิไทยมีความน่าสนใจตรงที่พระองค์เป็นผู้จารึกศิลาหลักที่สองซึ่งทำให้เราทราบประวัติความเป็นมาของราชวงศ์สุโขทัย (ที่สำคัญศิลาจารึกหลักนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลาจารึกจริงๆ อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง) กับอีกประการหนึ่งก็คือวัตถุประสงค์ของการประพันธ์ ไตรภูมิฉบับนี้นิพนธ์ขึ้นเพื่อว่าพระองค์อยากที่จะทำการเทศนาพระมารดา โดยนำเอาเรื่องนรกสวรรค์มาผูกเป็นนิทานหรือเป็นแก่นคำสอน เหมือนเช่นพระพุทธเจ้าอันเป็นบุคคลที่พระองค์เคารพศรัทธาเคยได้กระทำมาแล้ว หากเจตจำนงอันนี้ของพระองค์นั้นสามารถมองในมุมกลับได้อีกด้วยว่า เป็นการกระทำที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมวิธีคิดที่ไม่ค่อยปรกติทางจิต ซึ่งเปรียบเทียบกันแล้วดังเตเองก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลวิปลาสและถูกส่งเข้าสถานกักกัน)

ผมข้อย้อนกลับไปที่เนื้อหาหรือเค้าโครงของ ไตรภูมิพระร่วง อีกครั้ง ตามความเข้าใจของผม ‘ ไตรภูมิ ‘ หรือสามภพภูมิในความหมายนี้ไม่ได้แบ่งด้วยลักษณะทางกายภาพของโลก หากเป็นการแบ่งประเภทด้วยลักษณะของด้วยกายและวิญญาณ อันแบ่งออกเป็นกว้างๆได้แก่กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ

ส่วนถ้าจะมองกันในแง่ที่สมนัยไตรภูมิอันเดียวกันนี้อาจอธิบายได้จากทางสามแพร่งที่นำไปสู่เบื้องล่าง (ใต้โลก) ดินแดนที่คั่นระหว่างกลางที่เป็นเหมือนสำนักงานของพระยมมีไว้สำหรับการไต่สวน และทางขึ้นเขาพระสุเมรุอันนำไปสู่สรวงสวรรค์ (ซึ่งทางแพร่งนี้ดูเผินๆ แล้วมีโลกทัศน์คล้ายคลึงกับไตรภูมิของดังเตอยู่ไม่น้อย)

คอนเซปท์ของนรกใน ไตรภูมิพระร่วง เป็นดินแดนที่ใช้ชำระผลกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย หากการชำระกรรมนี้มีความแตกต่างจากนรกของดังเตตรงที่เมื่อชดใช้กรรมเสร็จแล้ว ดวงวิญญาณนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะกลับไปเกิดในชาติภพใหม่ พูดง่ายๆ นรกไม่ใช่ดินแดนที่จะจองจำดวงวิญญาณไปตลอดกาล ระบบการทำงานของนรกตามคติความเชื่อนี้จึงไปคล้ายคกับระบบการดัดสันดานหรือควบคุมความประพฤติ ที่แน่นอนเพิ่มดีกรีความทารุณโหดร้ายเข้าไป (อาจเป็นเพราะโลกหลังความตายดวงวิญญาณไม่สามารถตายซ้ำอีกหนได้) ว่ากันว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายโดยเฉพาะมนุษย์ หรือสัตว์มิได้ดีหรือเลวโดยสมบูรณ์ดังนั้น สัดส่วนที่แตกต่างนี้ทำให้เมื่อชดใช้กรรมในนรกเสร็จแล้วดวงวิญญาณจึงสามารถขึ้นไปรับผลบุญบนสรวงสวรรค์ ก่อนจะกลับไปเกิดในชาติภพต่อไป

การสร้างระเบียบให้กับสรรพสิ่งใน ไตรภูมิพระร่วง จึงเป็นไปในลักษณะของการจัดลำดับชั้นของจิตวิญญาณ ซึ่งแน่นอนเป้าหมายสูงสุดของการจำแนกแยกแยะนี้คือการนิพพาน เป้าหมายสูงสุดดังกล่าวแตกต่างจากเป้าหมายของคริสต์อย่างไร? นิพานคือการหลุดพ้น หรือการพ้นไปจากความเป็นอยู่ ซึ่งถ้าเรามองโดยตัดอคติทางด้านศาสนาไป ‘ พระเจ้า ‘ ตามความเชื่อของคริสต์ก็มีลักษณะคล้ายกับ ‘ สิ่ง ‘ ซึ่งดำรงอยู่ในอรูปภูมิ ซึ่งความแตกต่างทางความเชื่อนี้เหมือนจะมีแก่นร่วมกันอยู่

ซึ่งแน่นอนผมคงยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ในตอนนี้ นอกจากทำการศึกษาและอ่าน Inferno ดังเตหรือ ไตรภูมิพระร่วง ของพระยาลิไทยอีกครั้งหนึ่ง และครั้งหน้าถ้ามีโอกาสผมจะทำการบอกเล่าการวิเคราะห์ในหนที่สองโดยละเอียด

Divina Commedia หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ Divine Comedy เดิมทีดังเตตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า Commedia ในภาษาอิตาเลียน Commedia มิได้หมายถึงสุขนาฏกรรม หากหมายถึงบทกวีเล่าเรื่อง ( narrative poem) ดังเตได้ผนวกคำว่า Divina อันแปลว่า ‘ เทพ ‘ เข้าไปตามคำแนะนำของบอคคาคิโอ (1313-1375) นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนผู้ประพันธ์ บันเทิงทศวาร หรือ Decameron
——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...