ทศธเนศ ลือกิจนา XSiTE Design Studio

บทสัมภาษณ์คุณทศธเนศ ลือกิจนา เจ้าของและ Design Directorของ XSiTE Design Studio

1. ที่มาของชื่อXSiTE Design Studio
เป็นการเล่นคำสนุกๆ จากแนวคิดของความตั้งใจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ( Extra Value added ) ให้กับสถานที่ที่ออกแบบ ( Site ) ทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอยและคุณค่าทางจิตใจ ตามบริบทของสถานที่นั้นๆ

2. จุดเริ่มต้นประวัติการก่อตั้ง
เริ่มจดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่5 มกราคม2548 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นเพื่อนกัน คือ คุณสาธก ธัญญปกรณ์ศิริ และผม ทศธเนศ ลือกิจนา แต่ตอนหลังคุณสาธกได้แยกตัวออกไปทำงานประจำ

3. ขอบเขตของการให้บริการ
ออกแบบและให้คำปรึกษางานภูมิสถาปัตยกรรม

4. ประวัติของผู้บริหารจบการศึกษาจากที่ใดเคยทำงานที่ใดมาก่อน 
เจ้าของคือคุณทศธเนศลือกิจนา (หนัน) จบการศึกษาปริญญาตรีภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 2536

ประวัติการทำงาน
• KMC Architect & Construction ( Landscape Architect ) 2 ปี
• KTGY Inter Associates ( Part time Landscape Architect) 6 เดือน
• Scape Architect ( Landscape Architect ) 1 ปี
• Freelance Landscape Architect 7 ปี

5. ผลงานที่ภาคภูมิใจ / เกียรติประวัติ
• ศูนย์วัฒนธรรมจีนในไทยถนนเทียมร่วมมิตร
เป็นโครงการร่วมมือระหว่างไทยจีน เป็นศูนย์วัฒนธรรมจีนแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องทำงานร่วมกันกับทีมออกแบบและก่อสร้างจากเมืองจีนอีกด้วย
• สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสถนนวิภาวดีรังสิต
เพราะงานนี้เป็นโอกาสที่ได้ทำงาน Corporate park design ทั้งไซท์งานเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสนุกและได้โอกาสเรียนรู้มากมาย
• สำนักงานใหญ่สสส. ซอยงามดูพลี
งานนี้ทางสสส. ต้องการให้เป็นอาคารเขียวที่ได้ LEED certification ระดับ Platinum แต่เนื่องจากพื้นที่นอกอาคารค่อนข้างจำกัด เลยทำให้เราได้มีโอกาสทำงานที่ถือเป็นสวนดาดฟ้าทั้งหมด คือไม่มีอะไรที่ปลูกลงพื้นดินจริงๆ เลย แต่ถ้าไปดูที่โครงการอาจจะไม่ทราบเลย
• โครงการเชิงราบและคอนโดมีเนียมหลากหลายโครงการในเครือ Land & Houses
เรียกได้ว่าเป็นงานที่ทางเอ็คท์ไซท์เชี่ยวชาญ และเป็นลูกค้าที่ทำงานร่วมกันมานานตั้งแต่เปิดออฟฟิศ
• บ้านพักอาศัยของคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ และครอบครัว (เจ้าของหนังสือบ้านและสวน)
เป็นหนังสือที่เราอ่านมาตลอด พอโดนเรียกมาทำงานก็รู้สึกภูมิใจ
• สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Amwayถนนสุขาภิบาล 3
• ลานเอนกประสงค์ ธาราสแควร์ ในสถาบันปัญญภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
• หอจดหมายเหตุ ท่านพุทธทาส (สวนโมกข์กรุงเทพ)
งานนี้เป็นงานที่เราทำด้วยจิตอาสาไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งเพราะนับถือในคำสอนของท่านพุทธทาสเป็นทุนเดิม พอทางพี่ที่แปลนสตูดิโอมาชวนก็รีบตกลงทำ

6. สไตล์หรือแนวทางการออกแบบที่เป็น signature ของบริษัทนี้
จริงๆแล้วด้วยการเป็นนักออกแบบเราพยายามทำให้ได้ทุกสไตล์ตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่ยึดติดกับสไตล์ใดสไตล์หนึ่งเพื่อตอบโจทย์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับแต่ละงานที่เราออกแบบ ในแง่ภาพลักษณ์ของงานเราเน้นความกลมกลืนและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม, งานสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน แต่ต้องยังคงมีจุดเด่นของงานภูมิสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับประเภทของงานที่ออกแบบอยู่ด้วย ภายใต้แนวทางของ Optimum Design คือสวยอยู่ได้นาน ไม่ใช่สวยแค่ช่วงเวลาที่ออกแบบ นอกเหนือไปจากนั้นเรายังให้ความสำคัญกับแนวคิดเชิงลึก ที่จะส่งผลต่อรูปแบบการตกแต่งให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานนั้นๆ อย่างแท้จริง แต่จุดที่ลูกค้าหรือนักออกแบบที่ทำงานกับเอ็คท์ไซท์ฯบ่อยๆจะบอกว่าเราทำงานที่กำลังพอดีกับแต่ละงานไม่มากไปไม่น้อยไป

7. มีมุมมองต่อแนวทางการพัฒนาของงานสถาปัตยกรรมในบ้านเราอย่างไรบ้าง
ปัจจุบันรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในบ้านเรามีความทันสมัยและหลากหลายไม่แพ้ต่างประเทศ หากแต่ว่าไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ของประเทศปัจจัยคงมาจากข้อจำกัดต่างๆทั้งในแง่การลงทุนและพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่

8. สถาปนิกหรือนักออกแบบที่เป็นแรงบันดาลใจหรือมีผลงานที่ท่านประทับใจ
คุณองอาจ สาตรพันธ์ ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ให้แรงบันดาลใจในการออกแบบที่สะท้อนความงามที่ลงตัว และพี่ๆสถาปนิกจากกลุ่มบริษัทแปลนทุกท่านที่ได้มีโอกาสร่วมงานออกแบบด้วย ที่สอนให้เรารู้ว่าการเป็นนักออกแบบที่ดี ไม่ใช่เพื่อการเลี้ยงชีพอย่างเดียวแต่สามารถตอบแทนสังคมได้ในเวลาเดียวกัน

9. แนวคิดในการบริหารงานและการทำงานออกแบบให้ประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้
เกิดจากการลองผิดลองถูกมาเยอะ อาศัยทำงานเยอะ เรียนรู้จากการทำงาน เพราะตอนเรียนไม่ขยันเท่าไรเลยต้องสะสมประสบการณ์จากการทำงาน จากFreelance จนมาเปิดออฟฟิศตัวเอง อะไรดีก็จำไว้ทำต่อ อะไรไม่ดีก็ปรับปรุงไปเรื่อยๆ เราเป็นองค์กรเล็กๆ ที่พยายามจะซื่อสัตย์กับการเป็นนักออกแบบ ให้บริการลูกค้าด้วยความสะดวกรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภา พเป็นมืออาชีพตั้งแต่ตอนออกแบบแนวคิดจนถึงขั้นตอนการเขียนแบบก่อสร้าง

10. ท่านคิดว่าการทำงานในสาขาอาชีพของท่านมีส่วนสำคัญต่อความเจริญของประเทศอย่างไรบ้าง
งานภูมิสถาปัตยกรรมนั้นอาจไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในสาขาอาชีพออกแบบ โดยเฉพาะในเมืองไทย แต่งานภูมิสถาปัตยกรรมที่ดีนั้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้คนในพื้นที่นั้นๆได้ ปริมาณงานภูมิสถาปัตยกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในเมืองไทยทุกวันนี้ ก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนความเจริญทางจิตใจของคนในสังคม ที่จะให้ความสำคัญของสภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น 

11. มุมมองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสายตาของสถาปนิกและท่านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างไร
ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนแทบจะทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ปัญหา และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทุกคนในสังคม เราเองซึ่งเป็นส่วนเล็กๆที่มีอาชีพสร้างสรรค์คุณภาพของสิ่งแวดล้อม ก็ได้อาสาออกแบบให้กับหน่วยงานหรือชุมชนที่เราชื่นชอบในแนวคิดของเขาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ร่วมกับกลุ่มสถาปนิกในเครือบริษัทแปลนฯ ทุกๆ ปีเท่าที่มีโอกาส

You may also like...