มนตรี ศรียงค์

กวีรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2550 กวีหมี่เป็ด  มนตรี ศรียงค์ กวีหนุ่มชาวหาดใหญ่ ผู้เริ่มต้นการเขียนบทกวีในช่วงพฤษภาทมิฬ มีฉายานามในแวดวงวรรณกรรมคือ “กวีหมี่เป็ด” เพราะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหมี่เป็ดชื่อ “ร้านหมี่เป็ดศิริวัฒน์” อยู่ริมถนนละม้ายสงเคราะห์ กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา บ้านเกิด เป็นอาชีพหลัก

มนตรีมีผลงานรวมเล่มออกเผยแพร่สู่สาธารณะถึงปัจจุบันจำนวน 3 เล่ม คือ รวมบทกวี ดอกฝัน : ฤดูฝนที่แสนธรรมดา (พ.ศ. 2541), รวมบทกวีทำมือ การพังทลายของทางช้างเผือก (พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลพิเศษเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด) และกวีนิพนธ์ โลกในดวงตาข้าพเจ้า (พ.ศ. 2550) ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภทบทกวี ประจำปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันมนตรีมีความสุขดีกับการขายหมี่เป็ดและเขียนบทกวีอยู่ที่บ้านเกิด ส่วนใครที่อยากทักทายหรือพูดคุยกับกวีซีไรต์คนล่าสุดนี้ เปิดอินเตอร์เน็ตเข้าไปได้ที่ http://www.softganz.com/meeped

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นกวี
ตั้งแต่เกิดก็ได้ยินแม่กล่อมด้วยเพลงร้องเรือ (เพลงกล่อมเด็กภาคใต้) โตขึ้นหน่อยแม่ก็ท่องวรรณคดีบางตอนของบางเรื่องให้ฟัง ในขณะที่เตี่ยมักจะเขียนบทกวีภาษาจีนบนกระดาษขาวเทาด้วยพู่กันจีน แล้วแปะติดฝาบ้าน แม้จะอ่านไม่ออก แต่ก็ได้ยินลูกค้าที่ร้านหมี่ของเตี่ยพูดถึงและแปลให้ได้ยิน เป็นช่วงที่เพลงลูกทุ่งกำลังครอบครองคลื่นวิทยุ ลูกทุ่งกำลังโด่งดังมาก แต่ลูกกรุงก็ยังคงมีมนต์เสน่ห์ตามหน้าปัดวิทยุ ช่วงนั้นผมได้ฟังเพลงสากลไปพร้อมกันด้วย และได้ท่องบทอาขยานในช่วงวัยนั้นเช่นกัน ได้ตามเก็บหน้าบทกวีของนิตยสารขวัญเรือน ถ้าจำไม่ผิดช่วงนั้นคุณนิภา บางยี่ขัน คุมคอลัมน์อยู่ ผมจะฉีกหน้าบทกวีแล้วเย็บเก็บใส่แฟ้ม ต่อมาได้อ่านบทกวีดีดีที่ตอนนั้นมีวางเกลื่อนแผง ประกอบกับชอบบทร้อยกรองเป็นทุนเดิมอยู่ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้หล่อหลอมเด็กชายคนหนึ่งให้หลงรักบทกวี และได้เริ่มฝึกฝนเอาจริงเอาจังในเวลาต่อมา ทุนเหล่านี้ไม่มีวันจางหาย ผมเป็นกวีโดยดีเอ็นเอโดยโครโมโซมโดยธรรมชาติ มันเป็นวิธีคิดวิธีอธิบายเป็นพฤติกรรม เป็นกวีไปจนตาย

คุณลักษณะของบทกวีที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันต้องทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตามสะเทือนอารมณ์ แต่ถ้าบทกวีมีเพียงสิ่งนั้น สำหรับผมก็คงไม่เรียกมันว่าบทกวีที่ดี มันควรจะต้องประกอบไปด้วยองค์ความคิดที่ชัดเจนว่าจะสื่ออะไร มีความหมายแค่ไหน ประเด็นของบทกวีแต่ละเรื่องมันกำลังบอกอะไรคนอ่าน มีมุมมองใหม่ๆ เสมอ ต้องมีการเคลื่อนตัว และดึงผู้อ่านให้จมจ่อมอยู่กับบทกวีบทนั้นให้ได้

ต้นแบบของผมคงหาตัวยาก เพราะถ้าจำเพาะเพียงไม่กี่คนมันก็ไม่ใช่ อีกทั้งมันไม่ใช่เพียงแค่ต้นแบบที่เป็นบทกวีของกวีเท่านั้น ทุนเดิมของผมมีหลากหลาย ทั้งเพลงลูกทุ่งลูกกรุง เพลงร็อคยุค ‘60, ‘70, ‘80 หนังตะลุง มโนราห์ เพลงพื้นบ้านภาคกลาง, ภาคอีสาน หนังสือร้อยแก้วทั้งของไทยและต่างประเทศ กระทั่งผู้หญิงแต่ละคนที่ผมเกิดความรักขึ้นมาด้วย และยังเชื่อว่าไม่มีนักเขียนคนไหนในโลกจะมีต้นแบบจำเพาะไม่กี่คน ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้คนคนหนึ่งมาเป็นนักเขียนได้

ปณิธานสูงสุดในฐานะกวี
ทำงานให้ดีที่สุด

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มต้นอย่างไร และดำเนินไปอย่างไร (เริ่มจากแรงดาลใจฉับพลัน? หรือคิดวางโครงร่างอย่างถ้วนถี่? เขียนรวดเดียวให้จบ? หรือทิ้งไว้ แล้วกลับมาเกลา?)
ไม่ตายตัว หลายๆ ชิ้นเขียนขึ้นมาในเวลาไม่กี่นาที หลายๆ ชิ้นเขียนรวดเดียวจบโดยใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ หลายๆ ชิ้นเขียนค้างไว้วรรคสองวรรค ผ่านมาสิบปีแล้วกลับมาเห็นก็เขียนต่อ หลายๆ ครั้งที่เขียนจบในหัว หลายๆ ครั้งที่เขียนจบในหัวแล้วลืมไปก่อนจะจดใส่กระดาษ หลายๆ ชิ้นที่เขียนค้างไว้แล้วตื่นมาเขียนต่อในตอนดึก แต่งานทุกชิ้นจะผ่านการเกลาอีกหลายๆ ครั้งก่อนส่งนิตยสาร

วิถีชีวิตทุกวันนี้ของคุณเป็นเช่นไรหลังจากได้รับรางวัลซีไรต์ และโดยปกติคุณใช้เวลาไหนเขียนกวี
เป็นปกติ ยังลวกหมี่ขายเหมือนเดิม มีบ้างที่ต้องเดินทางไปพูดตามสถาบันต่างๆ เดินทางบ่อยขึ้น พบปะผู้คนมากขึ้น พูดคุยมากขึ้น สนุกดี
ผมจะเขียนงานอยู่ตลอดเวลา เขียนในหัว สร้างเป็นภาพหรือเป็นหนังขึ้นมา และมักจะใช้เหตุการณ์จริงมาเขียน ไม่ก็ตัวละครจริงฉากจริงแต่เหตุการณ์สมมุติ แต่มันจะรวบยอดไปอยู่ที่ประเด็นว่าผมต้องการสื่ออะไรให้คนอ่านรับ

สิ่งสำคัญที่สุดที่บทกวีชิ้นหนึ่งพึงมี
เสียงและจังหวะ บทกวีก็ไม่ต่างจากเพลง มันมีเมโลดี้มีท่วงทำนองของมันอยู่ และเสียงกับจังหวะนี่แหละที่จะทำให้บทกวีไม่สะดุดติดขัด ซึ่งจะสามารถโน้มนำคนอ่านให้เกิดความรู้สึกร่วมและมองเห็นประเด็นที่เราต้องการสื่อได้ แม้ว่าเราจะปิดซ่อนเอาไว้อย่างไรก็ตามที

ในฐานะกวี อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”
ผมไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์ และคิดว่านั่นเป็นการดูถูกความพยายามของมนุษย์อย่างรุนแรง ดูหมิ่นประสิทธิภาพของมนุษย์อย่างน่าละอายใจที่สุด และผมไม่ชอบใจคำว่าพรแสวง ผมชอบคำว่าความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากกว่า และความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่านี่แหละที่เป็นความสำคัญสุดของการทำงาน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า ศิลปินต้องทำงานรับใช้สังคม
เห็นด้วย เพราะไม่มีใครที่จะลอยตัวอยู่เหนือสังคมได้เลย การรับใช้สังคมมันหมายถึงการพยายามทำให้สังคมดีงามขึ้นมาให้ได้ และศิลปะ-วัฒนธรรมทุกอย่างมันล้วนเป็นผลิตผลจากสังคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอาชีพไหน ล้วนแล้วควรที่จะต้องรับใช้สังคมด้วยกันทั้งนั้น คำว่ารับใช้สังคมคือการกุลีกุจอเร่งรีบเต็มใจร่วมมือกันทำให้สังคมดีงามขึ้นมาให้ได้ แต่เอาเข้าจริงที่เป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ตรงนี้ผมมองปัญหานี้ที่การศึกษาของเรา ที่สอนเด็กให้แข่งกันทุกอย่างกระทั่งการเรียนการสอบ และไม่เอื้อต่อการอยู่ร่วมในสังคมเลย เด็กของเรามองเพียงมิติเดียว และไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นในสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เด็กรู้เพียงว่าต้องสอบให้ได้เกรด 4 และต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่หวังให้ได้ ผมไปพูดตามสถานการศึกษาต่างๆ พบว่าเด็กของเราอ่านหนังสือไม่ออก คำไหนที่ไม่เคยมีในตำราเรียน เขาจะผสมอักษรพยัญชนะไม่เป็น และอ่านไม่ได้ เด็กบางคนไม่เคยได้ยินคำว่าสมบุกสมบัน, ตรากตรำ, กรำงาน  และมากมายที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้ เด็กอ่านหนังสือไม่ออก นี่คือความล้มเหลวของระบบการศึกษาการเรียนการสอนของเรา จึงเกิดการไม่อ่านหนังสืออย่างที่เคยมีการวิจัยว่าอ่านกันปีละแปดบรรทัด เด็กจึงโลกทัศน์แคบจิตใจแคบและไม่สนใจสังคม การศึกษาสอนเด็กให้ลอยตัวอยู่เหนือสังคมเหินห่างจากชุมชน และอีก 20-30 ปีข้างหน้า เราจะเป็นคนแก่ๆ ที่เดินตามหลังการนำของเด็กรุ่นนี้

มองวงการกวีไทย
ยังคงปกติดีอยู่ มีรุ่นใหม่ๆ น่าจับตาเกิดขึ้นมาต่อเนื่องเสมอ และรอเวลาที่จะถอดเสื้อคลุมกวีที่เขาชื่นชอบออก เพื่อตัดเสื้อคลุมของตัวเองใส่

ทัศนะของคุณ ต่อปัญหาในวงการกวีไทยส่วนหนึ่ง ที่ยังมีการวิวาทะหมิ่นแคลนกันระหว่างกวีฉันทลักษณ์กับกวีไร้ฉันทลักษณ์
เรื่องไร้สาระ

“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน คุณคิดเห็นว่ามันสื่อถึงอะไร
จำเป็นกับไม่จำเป็นเท่าๆ กัน รางวัลคือการให้ค่าสำหรับงานวรรณกรรมชุดหนึ่ง ที่ไม่ได้หมายความว่าเล่มที่ไม่ได้รางวัลจะเป็นหนังสือไม่ดีไม่น่าอ่าน เรื่องอย่างนี้ทางใครทางมัน คนชอบยาขอบ, ไม้ เมืองเดิม ก็คงอ่านของปราบดา หยุ่น ลำบากหน่อย ชอบเพลงของ uriah heep, deep purple ก็คงฟังเพลงของบ่าววี, หลวงไก่ ลำบากหู แต่เชื่อว่าการมีรางวัลมากมายนั้นดีแน่ เพราะนั่นคือการทำให้นักเขียนมีเงินใช้ ส่วนที่กลัวกันว่าจะทำให้นักเขียนเร่งผลิตงานออกมาจนละเลยความละเอียด อันนี้ก็อยู่ที่นักเขียนแต่ละคนเอง ว่าจะยังรักษาชื่อของตนไว้หรือไม่ คนอื่นไม่ต้องเดือดร้อนแทนเขา มีรางวัลมากก็หมายความว่ามีคนสนใจเพิ่มขึ้นเยอะขึ้น มันน่าจะเป็นเรื่องดี

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร
เปรียบกับการเขียนหนังสือ การกินข้าว การขายหมี่ การนอนหลับ การนั่งนิ่งๆ มองสาวสักคน

คำแนะนำถึงนักอยากเขียน ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร และพัฒนาตัวเองอย่างไร
อ่านให้เยอะให้หลากหลาย และเขียนให้ทุกวัน ฝึกทักษะเอาไว้ แล้วพัฒนาการมันจะมาเอง ขอเพียงทุ่มเทและรักมันจริง

รายนามนักเขียนคนโปรด และรายชื่อหนังสือเล่มโปรด
นี่เป็นคำถามที่ยากมากๆ เพราะมีนักเขียนคนโปรดมีหนังสือที่รักมากมาย ลงรายชื่อเขาไม่ครบก็เกรงเขาจะน้อยใจ

——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-265
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...