เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

กวีศรีรัตนโกสินทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้เป็นต้นแบบให้กับกวีรุ่นหลังมากมาย มีผลงานหลากหลายและต่อเนื่องเสมอมา เนาวรัตน์โดดเด่นด้านกวีนิพนธ์ที่ถึงพร้อมทั้งลีลาและเนื้อหา ทำให้ไม่น่าแปลกใจ ที่ความสามารถทางกวีของเขา จะส่งให้เขาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภทกวีนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2523 จากกวีนิพนธ์ “เพียงความเคลื่อนไหว”

ก่อนในกาลต่อมา เขาจะได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2536 ปัจจุบัน เนาวรัตน์ยังเขียนหนังสือไม่หยุดหย่อน ยังเดินทางท่องเที่ยวเขียนแผ่นดิน และสละเวลาเพื่อกิจกรรมในแวดวงวรรณกรรมไทยอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี
พ่อเป็นคนที่สอนให้เราอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ด้วยการให้ท่องจำบทกวีที่ดีๆ ที่เป็นภาษิต ที่เป็นบทกลอน ก็จำได้มาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน ทั้งโคลงทั้งกลอน โดยเฉพาะโคลง โคลงสุภาษิตต่างๆ พ่อสอนให้ท่องจำได้

พอเราอ่านออกเขียนได้ก็เข้าโรงเรียน เข้าโรงเรียนมันมีการท่องอาขยานอีก มันก็เป็นบทกวีอีก เราก็ชอบ แล้วก็จำได้ช่วงนั้นเป็นช่วงสงคราม แม่ไปตลาดก็ซื้อหนังสือนิทานแสนสนุกมาให้อ่าน ผมเกิด อ.พนมทวน แต่ก่อนตลาดบ้านทวนมันไม่มีร้านขายหนังสือ เดี๋ยวนี้ก็คงไม่มี แต่จำได้ว่าแม่ไปซื้อหนังสือจากแม่ค้าหาบกระจาด แล้วก็วางหนังสือใส่กระจาดนั้นมาขาย (พูดกลั้วหัวเราะ) แม่ก็ซื้อนิทานแสนสนุกมาให้อ่าน ชอบ…ชอบอ่านหนังสือ
ผมจะมีมุมอ่านหนังสือของผม คือตรงระเบียงข้างยุ้งข้าวกับในคอกม้า คอกม้ามันจะมีรางหญ้าม้า ซึ่งผมเป็นคนเลี้ยงม้า ต้องจูงม้าไปกินหญ้าแถววัด แถวโรงเรียน เวลาเอาม้าออกไปข้างนอก ผมก็ชอบมานอนขดอยู่ในรางหญ้าม้าอ่านหนังสือ พอช่วงสงคราม พ่อก็รับหนังสือ จำได้ชื่อหนังสือเสาร์รีวิว เป็นหนังสือคงออกทุกวันเสาร์น่ะ แบบเย็บกลาง หรือเย็บหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เป็นแผ่นๆ คงเป็นรายงานเหตุการณ์อะไรต่างๆ รับในนามของผมนะ แต่ผมไม่ได้อ่านหรอกเพราะมันคงเป็นเรื่องหนักกินไป แต่ก็รู้สึกภูมิใจว่า เออ มันเป็นหนังสือของเรา (ยิ้ม)

ข้อดีก็คือว่าสิ่งแวดล้อมที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนังสือมันมีมากในวัยเด็กของผม มันก็เลยทำให้ชอบ! ไปโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งที่พ่อสอนให้อ่าน ให้ท่อง โรงเรียนสอนให้ท่องบทอาขยาน ที่บ้านก็มีแต่หนังสือ หนังสือก็เลยเป็นสิ่งแวดล้อมเดียวของผมสมัยเด็ก ก็เลยทำให้ชอบอ่านหนังสือ
ว่าไปถึงชอบเขียนด้วยเลยก็ได้นะ หลังจากจบประถมก็มาเข้ามัธยมในเมือง ก็มาอยู่กับป้า ตอนนั้นผมก็เริ่มวัยรุ่น เป็นวัยรุ่นก็เริ่มเขียนโคลง ผมเริ่มจากการเขียนโคลงนะ ไม่ใช่เขียนกลอน ก็คุ้นชินมากับโคลงตั้งแต่เด็ก ท่องโคลงสุภาษิต แล้วก็มาได้อ่านในห้องสมุด โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นโคลง ได้จังหวะโคลง แล้วก็มาอ่านลิลิตพระลอ มันขลังๆ ดี แล้วก็มาอ่านนิราศนรินทร์ นิราศนรินทร์นี่ชอบมากเลย เพราะว่ามันไพเราะและรู้เรื่อง มันค่อยร่วมสมัยหน่อย พอเป็นหนุ่มก็เขียนโคลงจีบสาว เริ่มด้วยโคลงจีบสาว โคลงโรแมนติค เอาชื่อของสาวมาเป็นกระทู้ เพื่อนๆ ก็เอาชื่อสาวๆ มาให้เราเขียนใหญ่เลย เราก็เขียนจนกระทั่งบางคนเขาได้กันเลยนะ มีครอบครัวแต่งงานอยู่ด้วยกันเลย อย่างเพื่อนที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นิด้านี่ มีครอบครัวจากโคลงจีบสาวของผมนะ ก็ถือเป็นรางวัลวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่อยู่ (หัวเราะ)

ก็เขียนโคลงมาตลอด จนกระทั่งจบมัธยม มาเรียนกรุงเทพฯ ก็มาเจอนิภา บางยี่ขัน เรียน ม.7-8 ด้วยกัน จนมาเข้าธรรมศาสตร์ จนมาเข้าวงการนักกลอน เข้าธรรมศาสตร์ก็ตั้งชมรมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งหลังชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ ปีหนึ่ง ผมเป็นรุ่นก่อตั้งเลย ชมรมวรรณศิลป์กับชมรมดนตรีไทยของธรรมศาสตร์ผมเป็นรุ่นก่อตั้ง ขณะเดียวกันก็รู้จักพวกกลุ่มนักกลอนรุ่นพี่ๆ ซึ่งตอนนั้นกำลังจับกลุ่มกันแถวบางขุนพรหม เพราะตอนนั้นมีสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมช่องเดียว มีรายการลับแลกลอนสด โดยคุณจำนง รังสิกุล เป็นผู้จัด ก็ได้รู้จักกับพวกนักกลอน และมีโอกาสได้ร่วมเล่นกลอนด้วย แล้วรุ่นพี่นักกลอนเขาก็มาคุมหน้าหนังสือคอลัมน์กลอนต่างๆ กลอนของเราก็เลยได้ลงด้วย ผมน่าจะโชคดีตรงที่ว่าเส้นทางของการเขียนหนังสือไม่ค่อยมีอุปสรรค พอเขียนถึงขั้นจะได้ลงก็ได้ลง เพราะว่ารู้จักกับพวกคนคุมคอลัมน์ต่างๆ (หัวเราะ) ไอ้การที่เขียนหนังสือแล้วได้ลงมันทำให้เกิดกำลังใจ ถ้าเราเขียนแล้วไม่รู้จะไปลงที่ไหนมันไม่มีกำลังใจ เขียนเองอ่านเอง พอได้ลงนี่มันรู้สึก โอ…มันมีคนอ่านที่เราไม่รู้อีกเยอะแยะ เส้นทางการเขียนก็มีมาอย่างนี้

มองอีกแง่หนึ่ง คุณอาจมีพรสวรรค์มากก็ได้ ถึงเขียนแล้วได้ลงเลย
แน่นอน มันก็ต้องเขียนถูกต้อง เขียนดีด้วยแหละ ถ้าเขียนไม่ถูก เขียนไม่ดี เขาคงไม่เอาลง (พูดกลั้วหัวเราะ) เพียงแต่ว่าโอกาสของเรามันมีมากกว่าคนอื่น มันได้ผ่านตาเขาตรงๆ มากกว่าที่จะต้องไปส่งไปรษณีย์

คุณลักษณะของกวีที่ดี
บทกวีมันมีอีกชื่อหนึ่งว่าวรรณศิลป์ คือศิลปะของการเขียนหนังสือ หรือศิลปะของการใช้ถ้อยคำ ทำไมจึงต้องใช้ศิลปะ ก็เพราะว่าศิลปะมันเป็นสื่อของอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่งานอื่นมันไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก แค่บอกให้เรารู้เรื่องราว แต่งานศิลปะให้อารมณ์ความรู้สึก เขียนรูปก็ให้ความรู้สึก เขียนหนังสือ บทกวีก็ให้ความรู้สึก ไม่ได้พูดว่าดีไม่ดีนะ มันก็มีความไพเราะ ความคล้องจองของถ้อยคำ ของเสียง เพราะฉะนั้นบทกวีมันเป็นภาษาของอารมณ์ความรู้สึก มันจึงพิเศษกว่าร้อยแก้วทั่วไป นี่คือความสำคัญของบทกวี

ดังนั้น กวีที่ดีจะต้องมีพื้นฐานเรื่องฉันทลักษณ์ เรื่องของความไพเราะ เพราะศิลปะของบทกวีมันขึ้นอยู่กับความไพเราะสละสลวยของถ้อยคำ ซึ่งมันก็เป็นองค์ประกอบของทุกศิลปะแหละ ไม่ว่าจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม คีตกรรม มันมีองค์ประกอบร่วมกันในเรื่องของความไพเราะ คือเสียงกับจังหวะ ดนตรีนี่ชัดเจนคีตกรรม เสียงกับจังหวะ จิตรกรรมก็มีเสียงกับจังหวะ เสียงคือโทน ความเหลื่อมล้ำ จังหวะก็คือองค์ประกอบ จัดวาง ประติมากรรมก็เช่นกัน การกินที่ไปในอากาศ มิติต่างๆ จังหวะจะโคน ก็เป็นโทนขององค์ประกอบเหมือนกัน ความไพเราะก็คือเสียงกับจังหวะ นี่มันก็มีเห็นไหม (ชี้ที่รูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์) มีจังหวะจะโคน มีความอ่อนช้อย โทนคือเสียง คือความลุ่มลึกของน้ำหนักต่างๆ

ทีนี้บทกลอน บทกวีก็เหมือนกัน เสียงกับจังหวะนี่เป็นหลัก แล้วภาษาไทยมันเอื้อในเรื่องเสียงกับจังหวะ มันมีเสียง โทนแน่นอนตายตัวของมัน จังหวะก็คือสัมผัสที่มันโยนรับกัน อันนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องยึด! จะต้องทำอย่างนี้ให้ได้! ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ใช่…ไม่ใช่ เพียงแต่พื้นฐานฉันทลักษณ์เบื้องต้นต้องมี ฉันทลักษณ์ก็แปลว่ารูปแบบของความพอใจ คุณทำมาได้แม่นยำ พื้นฐานแน่นแฟ้น คุณสามารถจับหัวใจของจังหวะจะโคนของภาษาได้ ทั้งเสียงทั้งอะไรออกมาได้เป็นอัตโนมัติ คุณก็สร้างสรรค์รูปแบบได้ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นของบทกวีคือพื้นฐานเรื่องนี้ต้องแม่น เหมือนจิตรกรรมที่ต้องขีดเส้นให้ตรง เขียนวงให้กลมนั่นแหละ ถ้าเราแม่นในเรื่องพื้นฐาน รูปแบบแล้ว ทีนี้ก็เนื้อหา
งานศิลปะทั้งปวงเนื้อหาสำคัญที่สุด เนื้อหาก็คือมุ่งที่จะบอกอะไร บทกวีมันมี 3 เป้าหมาย คือเพื่อประโลมใจ เพื่อปลอบใจ หรือเพื่อปลุกใจ
ประโลมใจก็อย่างกลอนรักทั่วๆ ไป ‘อยากให้รู้ว่ารักสักเท่าฟ้า หมดภาษาจะพิสูจน์พูดรักได้’ เป็นต้น
ปลอบใจ…(นิ่งคิด)…เช่น
‘คว้างคว้างใบไม้ปลิว           ละลิ่วหล่นลงบนดิน
เอื่อยเอื่อยธารไหลริน           มิรู้สิ้น ณ หนใด
เปรียบดังชีวิตนี้                     มิมีที่จะพักใจ
อ้างว้างร้างฤทัย                    กว่าชีพดับลงลับสูญ’
นี่ของหม่อมหลวงศรีฟ้า (หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2539) เป็นผู้แต่ง อ่านแล้วก็ปลอบใจ มันมีคนที่ว้าเหว่เหมือนเรา

ปลุกใจ ปลุกใจที่ผมชอบ ยกตัวอย่างของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ว่า
‘คืนนี้มืดใช่มืดสนิท                ไฟดวงนิดยังมีแสง
ขอเพียงลมพัดแรง                 เถ้ามอดแดงก็จะลาม
ทุ่งนี้รกใช่รกหมด                   นั่นข้าวสดขึ้นแทรกหนาม
ขอเพียงฝนจากฟ้าคราม        ข้าวจะงามท่วมหญ้าคา’

เป้าหมายของงานศิลปะก็มีประโลมใจ ปลอบใจ ปลุกใจ ประโลมใจกับประเทืองใจนี่ก็เหมือนกัน (ชี้ที่รูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์) อย่างนี้ดูแล้วก็ประเทืองใจ งดงาม แล้วก็ปลุกใจด้วยนะ ความองอาจของหัวเรือที่จะสู้กับพายุ สู้กับอุปสรรค นั่นแหละคือลักษณะพิเศษของบทกวีที่พึงมี

ต้นแบบในการเขียนกวีของคุณ
หลากหลาย ส่วนใหญ่แล้วจากหนังสือ จากวรรณคดี โดยเฉพาะขุนช้างขุนแผน ขุนช้างขุนแผนนี่ดูจะมีอิทธิพลมากที่สุด พอมาถึงโคลง มีโคลงนิราศนรินทร์ โคลงศรีปราชญ์ ตะเลงพ่ายของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส นี่เป็นต้นแบบ เป็นครูว่างั้น ถ้าเป็นกลอนก็สุนทรภู่ กลอนสุนทรภู่ทั้งหมดเป็นต้นแบบ มายุคหลังๆ ก็มีกาพย์กลอนของนายผี-อัศนี พลจันทร ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นครู เป็นต้นแบบ กลอนสมัยใหม่ก็ดี ก็ควรจะต้องอ่าน ทำให้เราได้รู้ว่ามันดีเลวยังไง

ปณิธานสูงสุดในฐานะกวี
ผมคิดว่าเราอยู่ในยุคสมัยของเรานี้ เราจะต้องสะท้อนยุคสมัยของเราให้ชัดเจน ด้วยเชิงศิลปะที่เราทำได้ ถามว่าทำเพื่อใคร ก็เพื่อผู้อ่านงานของเรา ถ้ารู้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่อ่านงานของเราอยู่ ก็เพื่อเขานั่นแหละ เพื่อปลุกจิตสำนึกของเขาให้เข้าใจยุคสมัย เหตุการณ์ ว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร แล้วมันควรจะไปยังไง ขั้นต้นก็คือเราจะต้องสะท้อนปรากฏการณ์ที่ชัดเจน ไม่พร่ามัว แล้วก็โยงไปหาเหตุให้ได้ว่าปรากฏการณ์นี้มันมาจากเรื่องอะไร ให้ถูกต้องด้วย แน่นอน ความหยั่งรู้ของเรามันจะเป็นตัวไปชี้ว่าอันไหนถูก-ไม่ถูก เราอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ (เสียงสูง) แต่เราก็ทำเท่าที่เราคิดว่าเรารู้มากที่สุดนั่นแหละ ดีกว่าไม่ทำซะเลย ถ้าเราสะท้อนปรากฏการณ์ความเป็นจริง และที่มาของปรากฏการณ์อย่างถูกต้อง ให้ทางออกหรือว่าเป้าหมายที่มันควรจะดีกว่านี้ ผู้อ่านก็จะรู้ได้เอง หรือเราจะแนะให้รู้ว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ นี่ก็คือ 3 อย่าง ปรากฏการณ์…เป็นจริง ที่มาของมัน…เป็นจริง และที่ไปที่มันควรจะเป็นไป แค่นี้แหละ เป็นหน้าที่ของคนทำงานศิลปะควรจะต้องทำ เป็นผู้ดูแลความรู้สึกของผู้คนในสังคม เพราะเราทำงานด้านอารมณ์ความรู้สึกอยู่แล้ว อารมณ์ความรู้สึกของเรามันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด สิ่งแวดล้อมก็คือสังคม ฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก และเราก็ควรจะต้องดูแล ว่าควรจะทำยังไงกับมัน ให้เกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เป็นเหยื่อของมัน! มิฉะนั้นเราจะเกิดลักษณะไม่ทันยุค หรือว่าล้ำยุค หรือว่าหลงยุค หรือว่าประจบยุค ซึ่งไม่ถูกต้อง ใช้คำว่า 4 อย่า 5 ต้อง
4 อย่า คือ 1.อย่าตกยุค 2.อย่าล้ำยุค 3.อย่าหลงยุค 4.อย่าประจบยุค

5 ต้อง คือ 1.ต้องทันยุค 2.ต้องเป็นปากเสียงผู้เสียเปรียบ 3.ต้องอทัศนะปัจเจก ต้องเอาส่วนตัวขึ้นต่อส่วนรวม 4.ต้องมีจิตสำนึกทางการเมือง 5.ต้องทำงานอย่างรักศักดิ์ศรี คือนอกจากไม่ไยดีต่อมงกุฎที่สวมครอบแล้ว ก็ไม่ยินดีที่จะเอาคราบสัตว์อื่นมาสวมครอบด้วย นี่คือ 4 อย่า 5 ต้องสำหรับคนที่ทำงานด้านศิลปะ หรืออย่าว่าแต่ศิลปะเลย ทำงานอะไรก็ตามแต่ ถ้าตระหนักรู้ใน 4 อย่า 5 ต้องนี้ มันก็จะร่วมยุคร่วมสมัยได้อย่างสร้างสรรค์

หรืออีกนัยหนึ่งคือ คนทำงานศิลปะก็ต้องรับใช้สังคม
คือใช้คำว่ารับใช้คนเขารังเกียจ คนที่มีทัศนะเจ้าขุนมูลนายก็ อื้อ ผมไม่ไปเป็นทาสรับใช้ใครหรอก (หัวเราะ) ผมมีอหังการ์ เราไม่ได้พูดว่าเรารับใช้ แต่ว่าเราต้องเป็นผู้ที่อยู่ในยุคสมัยอย่างถูกต้อง เกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง แล้วก็สร้างสรรค์มันได้ สร้างสรรค์ก็ไม่ได้หมายถึงการรับใช้ เป็นการทำเพื่อยุคสมัยที่ดีกว่า  ถ้าจะพูดแบบปัญญาชนคนชั้นกลางก็บอกว่า เราเป็นผู้สร้างสรรค์ยุคสมัย ถ้าจะพูดแบบชาวสังคมนิยม…เราเป็นผู้รับใช้ยุคสมัย มันไม่ต่างกันหรอก (พูดกลั้วหัวเราะ)

ในความเป็นกวี อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง ‘พรสวรรค์’ กับ ‘พรแสวง’
แต่ก่อนเราพูดกันเป็นสำนวนแล้ว พรสวรรค์ไม่มี มีแต่พรแสวง ทีนี้เราต้องจำกัดความว่าพรสวรรค์นี่คืออะไร ถ้าพรสวรรค์คือสิ่งแวดล้อมที่มันสร้างเรา ก็ได้ (เสียงสูง) เช่นผมเอง ถ้าจะพูดว่าพรสวรรค์ก็คือผมมีครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผมรักในสิ่งนี้ ถือเป็นพรสวรรค์ก็ได้ เพราะว่าครอบครัวอื่นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างผม สิ่งแวดล้อมของคนอื่นไม่ได้เป็นอย่างผม ถ้าจะพูดว่านี่คือพรสวรรค์ก็ได้ แต่พรแสวงคือพอมีพื้นฐานนี้ หลังจากนั้นเราก็ใฝ่หาใฝ่รู้ใฝ่ฝันของเราเอง อันนี้ก็เป็นพรแสวง แต่เบื้องต้นมันต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งตรงนี้ผมว่าก็คือ
1.ครอบครัว ครอบครัวจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานของเรา
2.ระบบการศึกษา สถาบันการศึกษา จะต้องสร้างประสบการณ์และนิสัยในการที่จะใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่ฝันให้กับเด็กของเราด้วย
3.ก็คือสังคม ถ้าเราแข็งแรงจากบ้าน จากโรงเรียนแล้ว หรือสถาบันการศึกษาแล้ว เราก็แข็งแรงพอที่จะอยู่ในสังคมนี้ได้ แต่ถ้าเราอ่อนแอทั้งบ้าน ทั้งครอบครัว ทั้งการศึกษา เราก็ตกเป็นเหยื่อความเลวร้ายของสังคมได้ง่าย เพราะธาตุใจของคนมันจะไหลลงต่ำ…ไหลลงต่ำเสมอ สังคมส่วนใหญ่มันก็เป็นอย่างนี้ พาคนลงเหวอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าคนเข้าใจ แข็งแรงพอที่จะต้าน! ที่จะเหนี่ยว! ที่จะดึง! ที่จะดันไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แน่นอน มันเป็นงานยาก แต่มันก็เป็นงานที่ท้าทายไม่ใช่หรือ…เหมือนอาจารย์พุทธทาสบอกว่า งานของธรรมะนี่มันดูจะงุ่มง่าม แต่ธรรมะที่งุ่มง่ามก็ดีกว่าอธรรมที่ปราดเปรียวไม่ใช่หรือ

การเขียนกวีของคุณได้แรงบันดาลจากอะไรเป็นหลัก ระหว่างอารมณ์ภายใน กับสิ่งเร้าภายนอก
ความจริงอารมณ์ของเรานี่มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง สิ่งแวดล้อมมันมากำหนด ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ ไม่ดู ไม่สดับข่าวสาร ไม่พูดคุยกับใคร อารมณ์ความรู้สึกของเราก็จมอยู่กับตัวเอง เขาเรียกว่าจิตสำนึก จิตสำนึกคนมันก็มี 3 ระดับ คือ
1.จิตสำนึกเพื่อตัวเอง คือถ้าเราปิดรับภายนอก เราก็จะมีจิตสำนึกเพื่อตัวเองตลอดเวลา เอาตัวเองเป็นหลัก ถึงแม้จะไปสัมพันธ์สัมผัสกับข้างนอก เราก็ยังเอาตัวเองเป็นหลักอยู่นั่นแหละ นี่คือจิตสำนึกเพื่อตัวเอง
2.ก็คือจิตสำนึกเพื่อผู้อื่น หรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม หรือจิตสำนึกเพื่ออุดมการณ์ หรือเพื่ออะไรก็ตาม เพื่อมนุษยชาติก็ตาม แต่มันก็ยังเป็นจิตสำนึกแบบอุดมการณ์ มันก็ดี แต่ว่ามันยังล่องลอยอยู่
จิตสำนึกที่ถูกต้องสุด ดีที่สุด สูงสุด คือ 3.จิตสำนึกทางการเมือง จิตสำนึกทางการเมืองนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไปเล่นการเมืองหรือว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การเมืองนี้มันหมายถึงว่าเป็นจิตสำนึกที่ทำให้คุณมองเห็นเหตุเห็นผลของกันและกัน อุดมการณ์ อุดมคตินี่มันเป็นผล ไม่ได้พูดถึงเหตุเลย มีแต่จิตสำนึกทางการเมืองเท่านั้นที่นอกจากพูดถึงผลแล้วก็โยงมาที่เหตุด้วย เป็นจิตสำนึกที่มีเหตุมีผล เขาเรียกเป็นโลกทัศน์ ทัศนะในการมองโลกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่มองเฉพาะผล หรือไม่มองเฉพาะเหตุ เกรี้ยวกราดเอากับเหตุ หรือไม่เผด็จเอาแต่ผล เพราะมันจะไม่ขจัดที่เหตุ การเมืองเท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นเหตุเห็นผล แต่ทุกวันนี้การเมืองมันถูกทำให้แปดเปื้อนด้วยปรากฏการณ์ที่มันเป็นด้านลบมากเกินไป จนกระทั่งคำว่าการเมืองนี่เป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องเล่ห์กล ช่วงชิงอำนาจกันเท่านั้น ทั้งหมดเป็นแค่กระบวนการวิธี จริงๆ การเมืองคือเรื่องของส่วนรวม ของการที่จะจัดส่วนรวมให้มันถูกต้อง ก็เหมือนกับคำที่ว่า ทำทางไม่ให้แกะหลง แกะหลงทางมันก็แก้ไขไม่ยาก แต่ทุกวันนี้การเมืองมันทำทางให้แกะหลง เหมือนเขาวงกต ทางในสังคมนี่โครงสร้างมันไม่ดี การเมืองมันไม่จัดให้ดี ฉะนั้นคนจะหลงทางเยอะ แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้าทำทางไม่ให้แกะหลง จัดโครงสร้างให้ดี ไอ้แกะที่หลงทางมันจะเป็นส่วนน้อย แต่ถ้าการเมืองไม่ดีทุกคนจะหลงทางหมด เหมือนทุกวันนี้ที่ทะเลาะกัน แตกแยกกัน! แตกร้าวกัน! เพราะคนมองไม่เห็นทางออก เพราะการเมืองมันไม่ได้ทำทางไม่ให้คนหลง มันมีแต่ทำทางเพื่อให้คนหลง ปัญหามันแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตสำนึกทางการเมืองนี่จะต้องมี พอเรามีเราจะมองปรากฏการณ์ มองสังคม มองอะไรได้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ คุณทำอาชีพอะไร
(ยิ้ม) ไม่มีอาชีพอะไรเป็นหลักนะ เพราะผมถือว่าอาชีพนี่เป็นรอง งานที่เราทำต่างหากเป็นหลัก คืองานเขียนหนังสือเป็นหลัก มันเอาเป็นอาชีพไม่ได้ แล้วเราก็มีอาชีพอื่นมารอง อย่างผม (พูดกลั้วหัวเราะ) เป็นที่ปรึกษาของศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพนี่ เพราะเคยทำงานธนาคารกรุงเทพมา นี่ก็เป็นอาชีพที่มาทำให้เรามีที่นั่งหลังพิง ได้ดำรงชีพอยู่ได้เป็นปกติสุขพอสมควร แต่จะถือเป็นอาชีพหลักไหม ไม่ใช่…ผมไม่ได้ทุ่มเทกับอาชีพเท่าไหร่ ถ้าผมทุ่มเทผมคงเป็นนายธนาคารหรือไปเป็นอะไรที่ใหญ่โตไปแล้ว (หัวเราะ) ผมเพียงพอใจเพื่อตรงนี้ พอแล้ว เพื่อได้ทำงานหลักของเรา คืองานเขียนหนังสือ

ดูแล้วคุณก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าข่าย “คนจนทุกคนไม่ได้เป็นกวี แต่กวีทุกคนเป็นคนจน”
ฟังดูปลอบใจดี (หัวเราะร่วน) ปลอบใจได้อีกก็คือ ‘กวีเป็นมงกุฎของวรรณกรรม’ (The crown of literature is poetry. วาทะของ William Somerset Maugham  ค.ศ. 1874-1965) ‘กวีเป็นมงกุฎของวรรณกรรม นักร้อยแก้วก็ต้องหลีกทางให้เมื่อกวีเดินผ่านมา’ เขาว่า…แล้วผมก็จะต่อว่า เพราะว่ากลัวจะทำแก้วไวน์ในมือกวีที่เดินเซแซดๆ มานั้นหก จึงต้องหลีกทางให้ (พูดกลั้วหัวเราะ) แต่ผมเห็นด้วยจริงๆ นะ เพราะว่าคนเขียนร้อยแก้วเกือบทั้งนั้นเลยเริ่มต้นจากการเขียนบทกวี บทกลอน กาพย์กลอนมาก่อน เพราะว่าเวลาเราอ่านหนังสือนี่ที่เราจำได้ง่ายสุดคือบทกวี เพราะความคล้องจอง ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า อำนาจของคำคล้องจองคือทำให้เราจำได้ เขามีคาถาว่า ‘กวิคาถานมาเสยฺโย’ กวีเป็นที่อาศัยแห่งคาถาทั้งหลาย คืออะไรที่จะให้จำ เนื้อหาที่จะให้จำดีๆ ก็ผูกเป็นกวี มันจะทำให้จำง่าย เพราะฉะนั้น คนมาเริ่มอ่านหนังสือที่จำได้คือบทกวี เมื่อเริ่มจะเขียนหนังสือ ก็จะเขียนบทกวี เขียนจากที่เราจำได้ นักเขียนเกือบทั้งนั้นเลยหัดเริ่มหัดเขียนจากบทกวี

การเขียนบทกวีสำหรับคุณเปรียบได้กับอะไร
มันเป็นชีวิต คือทีแรกเราเขียนเล่นๆ มาตั้งแต่เด็ก ท่องเล่นๆ อ่านเล่นๆ แต่งเล่นๆ จนหันไปดู บัดนี้มันเป็นวิถีชีวิตจริงแล้ว เป็นงานเล่นที่เป็นจริง มันกลายเป็นวิถีชีวิตของเรา ซึ่งเราก็มีความสุขกับมัน การที่เราได้รู้จักมัน ก็เท่ากับเรารู้จักตัวเราเอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวเราเอง

ทัศนะต่อปัญหาการวิวาทะกันระหว่างกวีฉันทลักษณ์กับกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่ต่างฝ่ายต่างหมิ่นแคลนกัน
ปัญหาพื้นๆ ปัญหาของคนยังไม่เข้าใจบทกวี ก็อย่างที่ผมบอกว่าฉันทลักษณ์แปลว่ารูปแบบอันเป็นที่พอใจ ถามว่าพอใจของใคร ก็คือพอใจของผู้แต่ง พอใจของผู้อ่าน ในระยะเวลาหนึ่ง ถ้ามันยาวนานมันก็เป็นฉันทลักษณ์แบบแผนขึ้นมา ถ้ามันไม่ยาวนานก็หายไป มันก็ไม่ถือเป็นฉันทลักษณ์ ไอ้คำว่าฉันทลักษณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือว่ามันกลายเป็นแบบแผนขึ้นมา จากความพอใจของผู้แต่ง ความพอใจของผู้อ่าน ในระยะเวลาหนึ่ง จึงกลายเป็นฉันทลักษณ์ เป็นแบบแผนขึ้นมา ซึ่งแบบแผนอันนั้นนี่มันเป็นอย่างที่ผมบอกแต่ต้นว่า มันเป็นที่พอใจ คือถ้าเราเข้าใจมัน มันจะทำให้เราจับหัวใจของแบบแผนนั้นได้ หัวใจของมันก็เรื่องความไพเราะที่มาจากเสียงและจังหวะ พอเราจับหัวใจมันได้แล้วเราก็สามารถจะสร้าง! ฉันทลักษณ์ใหม่ได้ ถ้าเป็นที่พอใจของผู้อ่านในระยะหนึ่งมันก็เป็นฉันทลักษณ์ใหม่หรือเป็นแบบแผนใหม่ขึ้นมา แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดนั่นมันเป็นแค่รูปแบบ เป็นพื้นฐาน ถ้าเรามัวเถียงกันตรงนี้ก็แสดงว่าคุณยังศึกษาไม่แตกไปจากตรงนี้ แล้วบางคนก็กลายเป็นว่าการสร้างสรรค์ใหม่คือการสร้างฉันทลักษณ์ใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างรูปแบบเท่านั้นเอง งานวรรณกรรมที่ดีมันต้องเนื้อหา รูปแบบมารับใช้เนื้อหา ไม่ใช่เอาเนื้อหาไปรับใช้รูปแบบ ตรงนี้ต้องแจ่มชัด เพราะฉะนั้นคุณเขียนอะไรก็ได้ แต่ว่ามันต้องเป็นเอกภาพกันระหว่างรูปแบบกับเนื้อหา มันก็จะมีพลัง เป็นงานสร้างสรรค์ได้

มองวงการกวีไทย นักเขียนไทยในปัจจุบัน
มันยังไม่น่าจะเป็นที่พอใจนักละนะ เราจะสังเกตเห็นว่ากวีหรือนักเขียนที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยมีมาอยู่ตลอดเวลา เช่น ศรีบูรพา, นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์ แม้กระทั่ง ป.อินทรปาลิต เขาเป็นตัวแทนของยุคสมัย แต่พอมาถึงยุคสมัยนี้! เรายังหาคนที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร นี่เป็นสภาวะ เป็นคำถามที่ตั้งว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะยุคสมัยมันไม่ชัดเจน หรือว่านักเขียนไม่ชัดเจนกับยุคสมัย ซึ่งมันอาจจะเป็นทั้ง 2 อย่าง แต่นักเขียนก็ยังเขียนอยู่ แน่นอน อย่างที่ผมว่า ‘ใครคุมปากกาทาสและใครกุมปากกาไทใครอยู่เมื่อยามไป  และใครไปแม้ยามเป็น’
เข้าใจอย่างนี้ มันจะเป็นพลัง งานเขียนมันจะมีพลังเพื่อสะท้อนยุคสมัย เป็นตัวแทนของยุคสมัยได้ แต่ถ้าไม่มี…แต่ผมเชื่อว่ามันมี เพียงแต่ว่าสังคมไม่ค่อยดูแล ไม่ใส่ใจ ไม่ได้เปิดโอกาสเท่าที่ควร จนปล่อยให้งานที่ไม่สร้างสรรค์ปรากฏมากกว่างานที่สร้างสรรค์ แล้วเราก็ไปลงโทษว่าคนอ่านไม่อ่านกัน ผมไม่เชื่อหรอก ถ้างานดีๆ คนเขาอ่าน เพียงแต่มันไม่มีโอกาสปรากฏ สื่อทั้งหลายแหล่ที่มีพลังฉุดดึงรสนิยมของผู้คนมันเป็นสื่อที่ไปรับใช้ความไร้สาระ หรือไปรับใช้กิเลสซะมากกว่าที่จะรับใช้ภูมิปัญญา มันก็เลยไม่ช่วยกันพัฒนาภูมิปัญญาของสังคมขึ้นมา

รางวัลจำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม
จำเป็นในระดับหนึ่ง รางวัลก็เป็นการให้กำลังใจแก่แวดวงนี้ แต่รางวัลไม่ใช่ตัวที่ประเมินคุณค่าหรือชี้ขาดงานเขียนสักเท่าไหร่ การยกย่องงานที่มีคุณค่าในวิถีทางอื่นก็มี ไม่ใช่เฉพาะรางวัลเท่านั้น แต่เมื่อเราระดมกันมาให้ความสำคัญกับรางวัลมาก มันก็กลายเป็นการชี้ขาดมาตรฐานขึ้นมา จะว่าไปรางวัลมันก็เหมือนการแจกทอฟฟี่ให้เด็กนั่นแหละ บางทีเด็กก็เลยฟันผุ (พูดกลั้วหัวเราะ) สวิงสวายกับรางวัลมากเกินไป บางคนก็ถือรางวัลเป็นเวทีแจ้งเกิด มันก็มีผลไปถึงวงการตลาดการพิมพ์ไปด้วยไง ก็จ้องจะพิมพ์เฉพาะงานที่ได้รับรางวัล ทั้งหมดนั่นคือคนไม่รักการอ่านนั่นแหละ เมื่อคนไม่รักการอ่าน ถึงจะมีรางวัลยังไงมันก็…ต้องโฆษณากันมากเกินไป มันทำให้ไม่มีคุณภาพ อย่างที่เขาบอกว่า ปรัชญาของการโฆษณาก็คือสินค้าที่มันไม่ค่อยจำเป็นกับชีวิต มีใครโฆษณากะปิ หอม กระเทียมไหม (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นอะไรที่มันจะต้องโหมโฆษณากัน มันไม่ใช่ของที่จำเป็นกับชีวิตเท่าไหร่ เป็นของฟุ่มเฟือยมากกว่า แล้วรางวัลก็เป็นการโฆษณาอย่างหนึ่ง

ทัศนะต่อภาครัฐกับวงการกวี นักเขียน ที่มองอย่างไรก็เหมือนเส้นขนานที่ยากจะบรรจบพบกัน
(ถอนหายใจ) ก็อย่างที่บอกว่าการเมืองหรือรัฐบาลเขายังจัดโครงสร้างกันไม่เสร็จ ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดีหรือประเทศที่มีอารยธรรมที่ดี เขาจะมีพื้นฐานความรุ่งเรืองในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมสูง ที่แน่น ฉะนั้นเรื่องนี้จะไม่มีปัญหา ถึงรัฐบาลจะไม่จัด รัฐบาลก็ต้องดูแล และก็ต้องฟัง และต้องเคารพด้วยซ้ำไป แต่บ้านเมืองที่มันไม่มีพื้นฐานเหล่านี้ ขึ้นไปสู่โครงสร้างของอำนาจนี่ ก็ถูกละเลย แล้วก็ปล่อยให้ต้องต่อสู้กันตามยถากรรม ผมว่าในที่สุดเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเขาจะช่วยเหลือยังไง ทั้งที่บ้านเรานี่…จะยกตัวอย่างอะไรดี…อย่างนี้ (ชี้ที่รูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์…หัวเราะ) เยอะแยะ แต่ว่าก็ไม่มีใครทำต่อเนื่องมา ดีแต่เอาอดีตมาขายกับปัจจุบัน ไม่ได้มาพัฒนาต่อเนื่อง ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อะไรที่มันเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยๆ ทุกวันนี้มันเรื่องของอดีต! ทั้งนั้นเลย เด็กไทยก็ต้องขี่ม้าก้านกล้วย ไว้จุก ชุดไทยก็ต้องอย่างนั้นน่ะ (พยักหน้าเป็นเชิงรู้กัน) มาเดินถนนไม่ได้ ผมจะยกตัวอย่างเกาหลี เมื่อสัก 30 ปีก่อนตอนตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ใหม่ๆ ผมเคยไปสัมมนาเรื่องละครที่เกาหลี ที่กรุงโซลนี่มีโรงละครถึง 60 โรง โรงละครสมัยใหม่นะ แล้วถามว่าเขาอยู่กันได้ไหม เขาอยู่ไม่ได้หรอก แต่ว่ารัฐบาลช่วยครึ่งหนึ่ง ทุกโรงเลย ฉะนั้นไม่แปลกใจที่วันนี้แดจังกึมมันมาตีตลาด หนังเกาหลีตีตลาดฮอลลีวูด วัฒนธรรมเกาหลีโดดเด่นขึ้นมา อาหารเกาหลีมีทุกบ้านทุกมุมเมือง เนื้อย่างเกาหลี หมูย่างเกาหลีเต็มไปหมด นั่นก็เพราะเขาพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่องศิลปวัฒนธรรม แล้วก็รู้ว่าศิลปวัฒนธรรมนี่แหละจะเป็นธงนำของประเทศได้ในทุกเรื่อง รัฐไม่ต้องมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เหมือนพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติน่ะ ไม่ต้องบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ว่ามันประจำอยู่แล้ว ประจำใจ! ด้วยซ้ำไป เรื่องศิลปวัฒนธรรมเหมือนกัน เป็นลมหายใจของชีวิต ของผู้คน ตราบใดที่เรายังพูดภาษาไทย ยังกินข้าว! อยู่นี่ กระบวนการของศิลปวัฒนธรรมมันหล่อหลอมเป็นชีวิต วิญญาณอยู่แล้ว เพียงแต่ดูแลมันสักหน่อย ทุกวันนี้ไม่เคยดูแลมัน ไม่เคยให้ความสนใจกับมัน กลายเป็นว่าตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่! วัยรุ่นของเราก็เลยเป็นหมวย ตี๋ หลี ยุ่น แหม่ม ไม่อยากจะเป็นไทย ไทยมันเชย ชื่อจะต้องเป็นฝรั่งไปหมด แต่ก่อนสมัยผมเด็กๆ ชื่อฝรั่งคือชื่อหมา! ไอ้ดิ๊ก! ไอ้บ๊อก! (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้กลายเป็นชื่อเด็กๆ ลูกหลานของเราแล้ว ต้องเป็นชื่อฝรั่ง เอ เปิ้ล แหม่ม อะไรอย่างนี้…ผมไม่รู้มันขาดไปตอนไหน! ความภูมิใจในความเป็นเรามันหยุด พอหยุดแล้วมันก็ไม่พัฒนาไง มันก็เลยมีช่องว่าง เราคว้างๆ แล้วอะไรที่ฝรั่งว่าเราจึงจะดี เป็นอย่างนั้นหมด แล้วเราก็โหยหา ใครที่รู้สึกว่าจะโกอินเตอร์สักหน่อยละก็ โอ้โห…เป็นวีรบุรุษของเรา มันเป็นอย่างนั้น

อันนี้เป็นสภาวะที่น่าอนาถของศิลปินไทย มันก็เลยต้องดิ้นรนเพื่อจะให้รัฐมาดูแล ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวที่จะต้องไปดูแลรัฐด้วยซ้ำไป มันใหญ่กว่านั้น ใหญ่กว่า มันเกินกว่าที่จะปล่อยให้อยู่ตามลำพังในมือของกระทรวงวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป…(พักหายใจ)…ก็คงต้องว่ากันไปนั่นแหละ (เสียงอ่อนอกอ่อนใจ)

——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 262
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

 

You may also like...