The Sound of the Mountain

เป็นประเด็นคำถามเชิงอภิปรัชญามานมนานว่า มนุษย์เรามีอิสระอยู่จริงหรือไม่ อิสระที่เราเลือก แท้แล้วอาจคือการติดอยู่ในกรงขังของอิสระในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือแม้กระทั่งถึงขนาดมีผู้บอกว่า ร่างกายของเราเองนี่แหล่ะที่เป็นตัวขัดขวางอิสระที่แท้

นานาจิตตัง จนปัจจุบัน ความเป็นอิสระก็ยังเป็นที่ถกเถียงถึงการนิยามและถูกค้นหาอยู่ไม่รู้จบ The Sound of the Mountain (Yama no Oto : ค.ศ. 1949-1945) หรือในชื่อภาษาไทยว่า เสียงแห่งขุนเขา เป็นผลงานนิยายของ ยาสึนาริ คาวาบาตะ (Yasunari Kawabata : ค.ศ. 1899-1972) นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1968 ชาวญี่ปุ่น

เสียงแห่งขุนเขาเล่าถึงชีวิตของ ชินโก ชายชราผู้ติดอยู่กลางครอบครัวที่กำลังระสำระสายใกล้แก่การล่มสลาย เขาแต่งงานกับน้องสาวของผู้หญิงที่เขาแอบรัก ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน หญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง ฝ่ายลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปก่อนหน้า แต่แล้วก็ประสบความล้มเหลวในการครองชีวิตคู่ ต้องบ่ายหน้ากลับมาอยู่กับชินโก พร้อมหลานอีกสองคน ขณะที่ฝ่ายลูกชายก็แต่งสะใภ้เข้าบ้าน กระนั้น ก็ยังแอบนอกใจภรรยาไปมีภรรยาน้อย ปล่อยให้ภรรยาอยู่โยงเฝ้าบ้าน และจะด้วยความใกล้ชิด ความไม่ชอบพฤติกรรมของลูกชายตัวเอง ความเห็นใจลูกสะใภ้ หรืออะไรก็สุดแท้ ชินโกเกิดหลงรักลูกสะใภ้ของตัวเองเข้าในที่สุด

เสียงแห่งขุนเขา เป็นนิยายที่มีวงขอบการเล่าเรื่องไม่กว้าง เพราะเล่าถึงแต่เพียงในวงวานครอบครัวของชินโกเท่านั้น แต่กระนั้น ด้วยความสามารถของคาวาบาตะ ก็ทำให้เรื่องที่เล่าในวงแคบๆนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ ในระดับที่ใหญ่กว่าตัวบุคคลได้อย่างมีพลัง ทั้งบาดแผลจากสงคราม ที่ฝังรกก่อรากทำร้ายวิญญาณของชาวญี่ปุ่น การล่มสลายของสถาบันครอบครัว ความเน่าแฟะของสังคม ปัญหาผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากของญี่ปุ่น และสังขารของความแก่เฒ่า ที่คาวาบาตะถ่ายทอดออกมาจนผู้อ่านเข้าถึงความคิดความอ่านของคนแก่ที่รู้สึกตัวเองด้อยค่าได้อย่างไม่ใคร่มีนักเขียนคนใดทำได้เช่นนี้มากนัก

เหนืออื่นใด มีประเด็นหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในนิยายเรื่องนี้ และผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจที่จะหยิบยกมากล่าวถึงต่อ ประเด็นที่ว่าก็คือ ความมีอิสระของมนุษย์
อิสระในกรงของศีลธรรม มองในมุมหนึ่ง ศีลธรรมในฐานะกรอบทางสังคมที่ถูกมนุษยืสมมติสร้างขึ้นมา ก็ไม่ต่างอะไรกับกรงขังที่กักกันกดทับสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ของมนุษย์ ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมาเนิ่นนานและจนปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าจะได้ข้อยุติ ก็คือเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์

ย้อนกลับไปในสมัยยุคหินที่ยังไม่มีกรอบทางสังคมเกิดขึ้น หรือมากกว่านั้น มองย้อนไปถึงต้นตอของการกำเนิดมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์ชายหญิงไม่มีอะไรซับซ้อน นอกจากการมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบเผ่าพันธุ์ ไม่มีศีลธรรมผัวเดียวเมียเดียว มีเพียงสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ ซึ่งนั่นไม่ได้ระบุกำหนดกฏเกณฑ์ไว้ว่า ชายต้องมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนเดียว ห้ามมีหลายคน หญิงต้องมีเพศสัมพันธ์กับชายคนเดียว ห้ามคบชู้สู่ชาย จนกระทั่งสังคมมนุษย์ก่อร่างขึ้น หลักศีลธรรมถูกบัญญัติว่า มนุษย์ที่ดีต้องมีผัวเดียวเมียเดียว การคบชู้มั่วผัวมั่วเมีย แสดงถึงความต่ำทางจิตวิญญาณ เมื่อนั้นสงครามระหว่างการเป็นมนุษย์ผู้ดีงามกับการเป็นมนุษย์โดยธรรมชาติก็ต่อสู้กันมาโดยตลอด

เพราะแม้ศีลธรรมจะถูกบัญญัติขึ้น แต่มนุษย์มากมายก็ไม่สามารถหักห้ามสัญชาตญาณดิบของตนได้ จะต่างกันก็เพียงถ้ามนุษย์คนนั้นมีสิ่งสมมติที่เรียกว่าศักดิ์ ฐานะทางสังคมหน่อย ก็จะได้รับการอนุโลม โดยการกำหนดเป็นกฏหมายขึ้นมาให้มีผัวมีเมียหลายคนได้ ขณะที่มนุษย์ผู้ไร้ศักดิ์ ไม่มีฐานะพอจะไปกำหนดกฏหมาย ยามไม่อาจหักห้ามสัญชาตญาณดิบของตนได้ ก็จะถูกสังคมประณามว่าเลว ไม่ขอพาดพิงต่อยอดไปในเรื่องทางสังคม เพราะอาจยาวและยืดเยื้อจนไม่ได้เขียนถึงนิยายเรื่องนี้

กลับมายังเรื่องอิสระในกรงของศีลธรรมต่อแม้ศีลธรรมจะถูกกำหนด แต่ก็ไม่เคยมียุคสมัยใดและสังคมใดที่ปราศจากมนุษย์ผู้กระทำผิดศีล  บทลงโทษต่างๆทางสังคม เช่น การซุบซิบนินทา การลงโทษด้วยการมอบความเจ็บปวดทางกาย และอื่นๆ จึงได้ทำหน้าที่ของมันอย่างแข็งขันเรื่อยมา จนกระทั่งมาในยุคปัจจุบัน สงครามระหว่างการเป็นมนุษยืผู้ดีงามกับการเป็นมนุษย์โดยธรรมชาติเริ่มมีการเปลี่ยนขั้ว อาจเพราะโลกสมัยใหม่เปิดกว้างขึ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ มนุษย์ในสังคมเริ่มถอดตัวเองออกจากหลักทางศีลธรรม เด็กสาวมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังเด็ก การทำแท้งเป็นเรื่องปกติ เซ็กซ์หมู่กลายเป็นเรื่องธรรมดา แม้กระทั่งการสวิงกิ้งก็ไม่ใช้เรื่องแปลกประหลาดที่ต้องปิดบังซ่อนเร้นอีกต่อไป ชินโก คือชายที่เติบโตมาในยุคสมัยที่ศีลธรรมยังทรงอำนาจ แต่ในปัจจุบัน (ในนิยาย) เขาคือชายแก่ผู้อยู่บนยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน เขาเฝ้ามองลูกชายของตัวเองทอดทิ้งภรรยาไปหาหญิงสาวคนอื่นด้วยความไม่เข้าใจ เสียงแห่งขุนเขาให้ภาพนี้ชัดเจนยิ่ง แต่ไม่ได้สรุปว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด ผู้เขียนเองก็ไม่ปรารถนาจะถือวิสาสะไปสรุป เพียงอยากเสนอภาพให้เห็นว่า ศีลธรรมในมุมหนึ่ง คือกรงขังความมีอิสระของมนุษย์ แม้แต่เหล็กก็ยังมีวันเสื่อมถูกสนิทกัดแทะจนแตกหัก นับประสาอะไรกับสิ่งสมมติอย่างศีลธรรม วันใดวันหนึ่ง (ซึ่งอาจคือวันนี้ในโลกของเรา) ก็ย่อมจะถูกถ่ายถอนได้ และลูกชายของชินโก คือ มนุษย์ในยุคสมัยที่ว่านั้น ยุคสมัยที่มนุษย์เลือกจะมีอิสระในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่ภรรยา รวมถึงตัวภรรยาน้อยของลูกชายชินโกเอง ก็เลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นที่ไม่ใช่สามีตน ในขณะที่ชินโกได้แต่เฝ้ามองภาพที่เห็นด้วยดวงใจที่สงสัยและโกรธเคือง เฝ้ามองมาจากภายในของกรงขังแห่งศีลธรรม

อิสระในกรงของสังขาร
อ้างอิงจากแนวคิดที่ว่า ร่างกายของเราเองนี่แหล่ะ ที่เป็นตัวขัดขวางอิสระที่แท้ แม้ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไปนี้จะไม่ใช่ความหมายที่แท้ของประโยคข้างต้น แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ภาพใกล้เคียงกัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่บ่นกระปอดกระแปดบ่อยๆถึงสังขารอันเสื่อมทรุดของตัวเอง อันส่งผลให้ทำอะไรก้ไม่ได้ดั่งใจ เช่นนั้น สังขารในมุมหนึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับกรงขังอิสระของมนุษย์ ชินโกเองก็เป็นเช่นนั้น เขาเป็นคนแก่คนหนึ่งที่ร่างกายและจิตใจไม่ได้สดใหม่และมีพลังพอจะทำอะไรต่อมิอะไรได้เหมือนวัยหนุ่ม เขาลุกเดินเหินเชื่องช้า หลงๆลืมๆ และเหนืออื่นใดคือความไร้สมรรถภาพในการแก้ปัญหาในครอบครัว ความคิดที่วกวนยุ่งเหยิงและคิดเล็กคิดน้อยไม่เข้าเรื่อง ทำให้ชินโกทำได้เแต่เพียงเฝ้ามองดูครอบครัวของตนเดินทางไปสู่ความล่มสลาย เขาไม่สามารถเข้าไปจัดการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับสามีได้ จนกระทั่งในที่สุด ทั้งสองก็ต้องหย่าขาดจากกัน หรือแม้แต่การไปมีหญิงอื่นของลูกชายเขาเอง เขาก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการให้เด็ดขาดได้ไม่ว่าในทางใด นี่คือภาพหนึ่งของอิสระที่นิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นผ่านทางชายชราที่ชื่อชินโก (แม้จะสามารถมองอย่างทีเล่นทีจริงในอีกมุมหนึ่งได้ว่า บางที การไม่มีอิสระเพราะสังขารไม่อำนวยของชินโก ก็ทำให้เขาเป็นอิสระจากทุกเรื่องราวในชีวิตได้ก็ตาม)

อิสระในกรงของหัวใจ
แม้นิยายจะให้ภาพของอิสระของมนูษย์ใน 2 แง่มุมข้างต้น แต่หลังจากอ่านจบแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ากรงขังที่แข็งแรงและแน่แท้ที่สุดในบรรดากรงขังทั้งมวล ก็คือกรงที่ก่อร่างอยู่ในหัวใจของเราเอง ในเสียงแห่งขุนเขา ชินโกคือชายชราที่ไร้อิสระที่สุดในโลก เขาไม่เคยมีอิสระที่จะทำให้เขามีความสุขเลยแม้สักครั้งในชีวิต ตอนหนุ่มเขาหลงรักพี่สาวของภรรยาคนปัจจุบัน แต่แล้วก็พลาดหวังจากเธอ จนมาแต่งงานกับน้องสาวทั้งๆที่เขาไม่ได้รักหล่อนเลย ในวัยชรา เขาถูกกรงขังแห่งสังขารกักกันพลังและความสามารถในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับคนในครอบครัว และเป็นเจ้ากรงขังแห่งสังขาร ร่วมมือกับกรงขังแห่งศีลธรรม ที่กักกันอิสระ ในการที่จะรักลูกสะใภ้ของตัวเอง ที่ชินโกเป็นจึงคือชายชราผู้ปราศจากอิสระทางกายภาพ ที่เดียวที่เขามีอิสระคือ ภายในหัวใจที่ถูกล้อมกรอบด้วยกรงขังอีกชั้นหนึ่ง ที่ชินโกเป็นจึงคือชายชราที่มีความสุขอยู่แต่ในการคิดฝันจินตนาการ เขารักลูกสะใภ้ในความฝันและแอบรักเธอในยามตื่น แม้ในช่วงสุดท้ายของนิยายจะให้ภาพเหมือนกับว่าตัวลูกสะใภ้เองก็รู้สึกได้ถึงความรู้สึกของชินโก และเธอเองก็มีทีท่าจะยอมรับชินโกในฐานะที่มากกว่าพ่อสามี แต่ที่สุด ก็เป็นชินโกที่ปล่อยให้อิสระของตนดำรงอยู่แต่ในกรงขัง มองภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้น กรงขังแห่งศีลธรรมจะแข็งแกร่งแค่ไหนเชียว ในเมื่อลูกชายของชินโกเองก็สามารถทลายมันลง และใช้ชีวิตด้วยความอิสระได้ กรงขังแห่งสังขารจะแน่นหนาสักแค่ไหนเชียว ในเมื่อเพื่อนรุ่นเดียวกับชินโก ต่างก็ไปเที่ยวผู้หญิงจนถึงขนาดมีคนหนึ่งตายคาอกผู้หญิงที่ตนไปเที่ยวด้วยเลยทีเดียว

กรงขังที่แน่นหนาและแข็งแกร่งที่สุดจึงคือกรงขังในหัวใจของเขาเอง ที่ทำหน้าที่กักกันอิสระของชีวิตเขาไว้เสียสิ้น จนตลอดมาในชีวิต ชินโก ไม่เคยได้ทำในสิ่งที่ลูกสะใภ้ของเขาพูดไว้ว่า ทำสิ่งที่เราต้องการทำเลย หากอิสระนำมาซึ่งการกระทำที่นำเราไปสู่ความสุข คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่าชินโกก็หาใช่อะไรอื่น นอกจากชายที่ไร้ความสุขที่สุดในโลก

เสียงแห่งขุนเขาจึงคือเสียงของความต้องการที่ก้องกังวานอยู่ภายในใจของชินโก เป็นเสียงที่ลึกลับอับทึบไร้ทางออก เป็นเสียงที่ชินโกเลือกจะกักขังมันไว้ในภูเขาหัวใจของเขาเอง

ปลายทางของอิสระ
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะนำผู้อ่านไปสู่การหักล้างศีลธรรมจรรยาอันดีงามแต่อย่างใด เพียงแต่อยากแสดงให้เห็นถึงความไร้อิสระของมนุษย์จากการกักกันของสิ่งต่างๆและแน่นอน ผู้เขียนไม่ปรารถนาจะสรุปว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรไม่ควร ชินโกอาจทำถูกที่สุดแล้วในฐานะความเป็นมนุษย์ผู้ดีงาม ผู้เขียนเพียงแต่ขอนำเขามาเป็นภาพแทนถึงสภาวะความมีหรือไม่มีอิสระเท่านั้น

และโดยไม่ขอขบคิดแก้ปัญหาปรัชญาโลกเรื่องอิสระ ว่าแท้แล้วมนุษย์มีไหม หรือแท้แล้วเราไม่เคยมีอิสระ ฯลฯ อย่างน้อยที่สุด ผู้เขียนก็ยังเห็นความดีของชินโกผู้ไร้อิสระและความสุขในเรื่อง เพราะถึงที่สุดแล้ว ในเมื่อเราต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม ต่างต้องพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน การใช้อิสระของเราในฐานะมนุษย์จึงควรมีของเขตจำกัด นั่นเองที่หลักเกณฑ์ทางสังคมหรือศีลธรรมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อิสระมากเกินไปของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ใช้อิสระที่มีมากเกินงาม ก็จะไปกระทบกระทั่งผู้อื่น และนำมาซึ่งความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ชินโกก็เลือกที่จะได้ชื่อว่าเป็นชายชราผู้ไร้อิสระและไร้สุขโดยที่ไม่ทำให้ผู้คนรอบข้างเดือดร้อน อันเนื่องมาจากการใช้อิสระของเขาเอง ในทัศนะของผู้เขียน นั้นเพียงพอแล้วที่จะกล่าวว่า ชินโกทำให้การเกิดมาเป็นมนุษย์ของตัวเขาเองมีค่า

TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์

 

 

You may also like...