พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง

ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก
เขตหนองจอกเป็นหนึ่งในไม่กี่เขตของกรุงเทพฯ ที่ยังมีนาข้าวสีเขียวขจีให้ได้เห็นกัน ซึ่งชานเมืองกรุงเทพฯ นั้นแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อพยพชาวไทยมุสลิมจาก ๗ หัวเมืองทางใต้ มาตั้งรกรากตามแนวคลองแสนแสบ ซึ่งขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สำหรับลำเลียงอาวุธและเสบียงเพื่อการสงครามกับเขมร ด้วยสาเหตุนี้เขตหนองจอกจึงมีพี่น้องชาวไทยมุสลิม อาศัยอยู่มากถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยเชื้อสายมอญ รู้จักกันดีในชื่อชุมชนมอญคลองสิบสี่ เป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ประชาชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขตลอดมา และร่วมสืบสานประเพณีที่มีคุณค่าร่วมกันมาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ตั้งอยู่ในสวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด ส่วนของพิพิธภัณฑ์เองนั้นจัดเอาไว้อย่างสวยงามรื่นรมย์ ภายในจัดแสดงเรื่องราวความสมานสามัคคีของพี่น้องชาวไทยพุทธ มุสลิม คริสต์ และชาวไทยมอญ จัดแสดงวิถีชุมชนท้องถิ่น ประวัติความเป็นมาของการผสมผสานความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ของดีของเด่นของเจตหนองจอก และสถานที่ท่องเที่ยวน่าประทับใจเอาไว้อย่างครบถ้วน

มุมเด่นภายในพิพิธภัณฑ์
จุดแรกของนิทรรศการนั้น เล่าเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่โดดเด่น การอยู่ร่วมกันของพี่น้องชาวพุทธ มุสลิม คริสต์ รวมถึงพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่อยู่ร่วมกันมาอย่างกลมกลืนสงบสุข ตลอดจนจัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวไทยมุสลิม ซึ่งตั้งรกรากอยู่ตลอดริมคลองแสนแสบตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 3

มุมต่อมา จัดแสดงงานอุปกรณ์การเกษตร งานหัตถกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ชาวหนองจอก การจับปลาและทำนา ซึ่งเป็นวิถีการหาเลี้ยงชีพ ที่ผูกพันกับธรรมชาติเอาไว้อย่างครบถ้วน มีทั้งของจริงและรูปภาพให้ศึกษาได้อย่างชัดเจน เขตหนองจอก มีชื่อด้านงานฝีมือมาแต่เก่าก่อน ในมุมนี้จึงรวบรวมจัดแสดงตัวอย่างงานหัตถกรรมไว้อย่างสวยงาม เช่น การทำกรงนกจากเขาสัตว์ เครื่องจักสาน หมวกถักผ้าคลุมผมฝีมือปักที่งดงาม นอกจากนี้ยังแนะนำพาหนะที่ชาวหนองจอกนิยมใช้สัญจรกัน คือ รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ที่เราคุ้นตากันจากภาพยนตร์รุ่นเก่าๆนั่นเอง

ที่น่าสนใจเป็นที่สุดเป็นมุมนิทรรศการเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในเขตหนองจอก วัดหนองจอกที่มีหน้าบันไม้แกะสลักลายไทย โบสถ์นักบุญเทเรซ่าของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค มัสยิดดารุสสลามซึ่งมี มิมบัร ที่เป็นงานไม้ที่สวยงามอ่อนช้อย

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก
ตั้งอยู่ที่อาคารพิพิธภัณฑ์สวนไม้มงคล พระราชทาน 76 จังหวัด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
เปิดให้เข้าชม วันพุธ-วันอาทิตย์
เวลา 10.00 น. – 16.oo น.

สำนักงานเขตหนองจอก
1 หมู่ 2 ถนนเชื่อมสัมพันธ์ แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ : o2-543-2373

You may also like...