Sorstalanság ใครคือผู้กุมชะตากรรม

พูดถึงคำว่าชะตากรรม ใครหลายคนอาจนึกไปถึงสิ่งนามธรรมชนิดหนึ่ง ที่คอยกำหนดชีวิตมนุษย์โดยมีสิ่งที่อยุ่เหนือธรรมชาติ กลุ่มก้อนพลังจากจักรวาล หรือไม่ก็ในนิยามของพระเจ้า คอยกำกับควบคุมชะตากรรมอีกต่อหนึ่ง

ซึ่งแนวคิดนี้ได้นำไปสู่วาทกรรมหนึ่งที่ว่า สุดท้ายแล้วมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ไร้อิสระในตัวเอง เพราะทุกก้าวย่างของชีวิตถูกสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรมคอยกำกับ เด็กคนหนึ่งเกิดมาในตระกูลผู้รากมากดีกับอีกคนเกิดมาในสลัมริมคลองน้ำเน่า เป็นเพราะชะตากรรม คนคนหนึ่งทำงานแทบเป็นแทบตาย ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ขณะที่อีกคนทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่กลับได้เลื่อนขั้นเอาๆ เพียงเพราะคนนั้นเป็นหลานของประธานบริษัท เป็นเพราะชะตากรรมคนที่ดีแสนดีคนหนึ่งตายลง แต่คนที่ชั่วแสนชั่วกลับหนังเหนียวตายยากตายเย็น นี่เป็นชะตากรรม

สูดหายใจลึกๆแล้วลองเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 อาจจะต้องแปลกใจที่พบว่า ไม่มีคำว่า ชะตากรรม อยู่ในนั้น มีก็แต่เพียงคำว่า ชะตา ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า ลักษณะหรืออัธยาศัยบางอย่างที่ทำให้รู้สึกชอบหรือไม่ชอบในทันทีทันใด หรือ ลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและเหตุร้าย ซึ่งเมื่อนำมารวมกับคำว่า กรรม ที่แปลว่า การกระทำ แล้ว จะเห็นได้ว่าความหมายที่แท้ของคำว่า ชะตากรรม ไม่ได้มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องโยงใยไปถึงสิ่งที่มีพลังอำนาจซึ่งคอยควบคุมชีวิตมนุษย์เลยแม้แต่น้อย

ที่เขียนมายาวเหยียดข้างต้น เพราะผู้เขียนกำลังจะโยงใยไปถึงนวนิยายเรื่องหนึ่งของนักเขียนรางวัลโนเบล ประจำปี ค.ศ. 2002 นวนิยายเล่มนั้นชื่อ Sorstalanság หรือในฉบับภาษาไทยว่า ชะตาลิขิต ผลงานของ คาลติช อิมเร่ (Kertesz Imre) นักเขียนชาวฮังการีเชื้อสายยิว ผู้ซึ่งเคยถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันชาวยิวที่คุกนรก เอาส์ชวิตส์ ในสมัยที่นาซีเยอรมันประกาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งโชคดี (หรือไม่ก็เพราะชะตากรรม) ที่ในที่สุดคาลติช เป็นผู้หนึ่งที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนั้นมาได้ ก่อนที่ให้หลังเขาจะเบนเข็มมาเขียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมที่พูดถึงเรื่องราวในค่ายกักกันชาวยิวที่เขาได้ประสบมากับตัวเอง

เนื้อหาของ  Sorstalanság เล่าถึงชีวิตของเด็กชายคนหนึ่ง ที่ความซึ่งเป็นคนยิว ทำให้เขาถูกนำตัวไปที่ค่ายกักกันชาวยิว ในค่ายกักกัน เขาได้พบเห็นและประสบกับภาวะต่างๆมากมาย ทั้งทหาร เชลย ผู้บาดเจ็บ ความหิวโหย การแบ่งชนชั้นวรรณะ ฯลฯ โดยเฉพาะประเด็นหลัง ที่น่าตลกตรงที่ว่า แม้จะถูกแบ่งแยกให้ลงไปเป็นอีกชนชั้นหนึ่งแล้วก็ตาม แต่เหล่าเชลยในค่ายกักกันนั้น ก็ยังถือทิฐิมากพอที่จะแบ่งแยกเหล่าเชลยด้วยกันออกเป็นก๊กเป็นเหล่ายิบย่อยลงไปอีก อาทิ เชลยคนละเชื้อชาติ เชลยที่มีฐานะกับไร้ฐานะ เชลยที่พูดกันคนละภาษาฯ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นหรืออยู่ในภาวะจำยอมจริงๆเชลยแต่ละฝ่ายก็จะไม่สุงสิงกัน เด็กชายใช้ชีวิตพร้อมๆไปกับเฝ้ามองเหตุการณ์ในแต่ละวันที่เกิดขึ้นในค่ายกักกัน เขาได้พบกับผู้คนมากมาย และความเชื่อที่หลากหลาย ในภาวะเจียนอยู่เจียนตาย ในที่สุดเด็กชายก็เป็นผู้รอดชีวิต หลังจากทหารนาซีเยอรมันพ่ยแพ้สงคราม และเชลยที่ยังมีชีวิตรอดได้รับการปลดปล่อยให้กลับบ้าน

อาจกล่าวได้ว่า Sorstalanság เป็นนวนิยายที่ไม่ได้ดีเด่นตรงพล็อตที่หวือหวาหรือมีเรื่องราวที่น่าสนใจชวนติดตาม ที่เป็นก็เพียงคล้ายๆกับบทบันทึกของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่บรรยายถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา โดยเฉพาะในค่ายกักกัน กระนั้นก็ตาม ในความเรียบนิ่งของการดำเนินเรื่อง ก็ได้มีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาจากเรื่องราวในบทบันทึกนั้น นั่นก็คือ ใครคือผู้กุมชะตากรรม ?

ในค่ายกักกัน เด็กหนุ่มได้พบกับผู้คนมากมายที่มีความเชื่อในโชคชะตา เชื่อว่ามนุษย์เราเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งบนกระดานหมากรุกของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ไม่มีอิสระที่จริงแท้ ทุกคนล้วนเดินไปบนเส้นทางชะตากรรมที่พระเจ้าทรงขีดให้เดิน และในการณ์นี้พระเจ้าทรงขีดเส้นให้พวกเขาเกิดมามีเชื้อสายยิว เพื่อให้พวกเขาต้องเข้ามาอยู่ในค่ายกักกัน ถูกทารุณกรรม และมากมายที่ถูกฆาตกรรม แต่จากประสบการณ์ที่ได้รับ เด็กชายกลับไม่เชื่อเช่นนั้น เขาเห้นว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ เขามองว่า ถ้ามีชะตากรรมอิสรภาพเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับ ถ้าหากมีอิสระภาพ ต้องไม่มีชะตากรรม

ซึ่งที่สุดแล้ว เขาเชื่อว่า ตัวพวกเราเองที่เป็นชะตากรรม เพราะ เหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นเอง ไม่ได้มาถึงเอง พวกเราอยู่ในเหตุการณ์และเดินไปพร้อมมัน ย้อนกลับไปยังความหมายที่แท้ของคำว่าชะตากรรม ซึ่งถึงที่สุดแล้ว หาได้หมายถึงสิ่งที่นามธรรมที่คอยกำหนดชีวิตเรา แต่หมายถึงสิ่งนามธรรมที่คอยกำหนดชีวิตเรา แต่หมายถึงการทำหรือสร้าง (กรรม) ลักษณะหรือหนทาง (ชะตา) ซึ่งไม่มีใครที่สามารถกระทำการในนิยามนี้ได้อย่างจับต้องได้มากไปกว่ามนุษย์เราอีกแล้ว แปลว่า มนุษย์เรานี่แหล่ะ ที่กำหนดชะตากรรมให้ตัวเอง กลับมายังทัศนะของเด็กชายภายในเรื่อง ก็สามารถแปลได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนมาจากน้ำมือของมนุษย์ ตั้งต้นมาตั้งแต่มนุษย์เลือกจะเชื่อต่างกัน (ซึ่งก็คือการสร้างชะตากรรม หรือ สร้างลักษณะที่ต่างกัน) เลือกจะทำตัวต่างกัน เลือกที่จะแบ่งแยกกันไปจนกระทั่งเลือกจะกำจัดคนที่ต่างจากตนไปให้พ้น นำมาซึ่งสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นี่คือชะตากรรมของมนุษย์หลายล้านคน ซึ่งเกิดขึ้นมาจาก การสร้าง ของมนุษย์เพียงไม่กี่คนซึ่งที่มันเกิดขึ้นได้ ก็เพียงเพราะมนุษย์ไม่กี่คนนั้นมีอำนาจ อนึ่ง ในการสร้างชะตากรรมร่วมอันยิ่งใหญ่ที่ว่านั้น มนุษย์ที่ถูกชะตากรรมใหญ่ครอบงำ ก็ได้มีส่วนในการสร้างชะตากรรมเชิงปัจเจกให้ตัวเองเหมือนเช่นเด็กชาย ที่เป็นส่วนหนึ่งของชะตากรรมใหญ่ เป็นรอยเท้าคู่หนึ่งที่เดินไปตามชะตากรรมที่ มนุษย์คนอื่นสร้างมาครอบทับตัวเขา ซึ่งที่จริงแล้วเขามีสิทธิจะสร้างชะตากรรมให้ตัวเองด้วยการหนีด้วยการขัดขืน แม้กระทั่งยอมตาย แต่ที่สุดแล้วเด็กชายในตอนแรกและเชลยส่วนใหญ่ คิดว่านี่เป็นชะตากรรมที่ตนไม่อาจขัดขืน ที่พวกเขาสร้าง จึงเพียงก้มหน้ายอมจำนน

ซึ่งผลที่ตามมา หากไม่ตายก็จะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความทรงจำถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นไปจนตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต การตระหนักรู้ถึงผู้คุมชะตากรรมที่แท้จริง จึงเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตของเราเอง เพราะนั่นอาจหมายถึงการเปลี่ยนสถานะ จากผู้ถูกคุม มาสู่การเป็น ผู้ควบคุมมากไปกว่านั้น เมื่อตระหนักถึงสถานะการเป็นผู้ควบคุมของตนได้แล้ว สิ่งซึ่งพึงระวังยิ่งอีกประการก็คือขอบเขตอำนาจในฐานะผู้ควบคุมนั้นๆเพราะปฏิเสธหรือ ว่าการควบคุมชะตากรรมของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีผลต่อคนอีกมากมายมหาศาล

อ่านชีวิตของฮิตเลอร์และคาลติช อิมเร่ แล้วเราจะปฏิเสธไม่ลง

TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์ 

 

 

 

 

 

You may also like...