วิเคราะห์สถานการณ์ศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทย

“ศิลปะก็คืออาหารของจิตใจและพุทธิปัญญาของมนุษย์เรา ไม่ว่าวรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และมัณฑนศิลป เราได้ประสบความเพลิดเพลินเจริญใจ ความสงบเยือกเย็น และบ่อเกิดของความหวังอันสูงส่ง ศิลปะทำให้เราเป็นคนดี รักใคร่กันและกัน ทำให้เรามีภาวะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ฉะนั้นศิลปะจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่มีวัฒนธรรมของชาติ…”

ทัศนะที่หยิบยกมาข้างต้น ได้รับการยอมรับในฐานะ “ความจริง” ที่นิยมยึดถือกันในแวดวงทัศนศิลป์มายาวนาน จากความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีจะเป็นต้นกำเนิดของศิลปะชั้นเลิศ จะหล่อหลอมสังคมให้ดีงาม

ณ ยุคสมัยที่วรรณกรรมแปล อย่าง เกมส์ ออฟ โธรน หรือ แฮรี่ พอตเตอร์ กวาดเม็ดเงินจากเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก รวมถึงกระเป๋าคนไทย ภาพยนตร์ฮอลลีวูดจองคิวแน่นโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ห้างสรรพสินค้ากลายเป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่ยกระดับจิตวิญญาณผู้คนให้ลอยฟ่อง เคล้าเสียงดนตรีไทยในท่วงทำนองสากล สลับกับเสียงเท้าก้าวฉับๆ บนแคตวอล์กแฟชั่นไทย ใส่จริตแบรนด์เนมระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตประจำวันของผู้คนใกล้ชิดกับศิลปะอย่างแยกไม่ออก ทว่าศิลปะเหล่านี้กำลังลากจูงศิลปะของตนให้ห่างไปแห่งหนไหน ในขณะที่ศิลปะบางสายพันธุ์เรียกร้องหาคนดุแล ภายใต้รัฐบาลที่เอาใจใส่หอศิลป์น้อยกว่ารถถังและตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คำถามอันโหดร้ายก็คือ ศิลปะที่อยู่คู่สังคมไทยหรือสังคมใดๆ ในโลกได้จริง ควรจะเป็นศิลปะที่พึ่งตัวเองได้ สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองอย่างแข็งแรง บนความเป็นจริงที่ดูเหมือนจะโหดร้ายทารุณในยุคสมัยของตนใช่หรือไม่

เมื่อพิจารณาศิลปะร่วมสมัยในบริบทที่กำหนดกรอบโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้จำแนกหมวดหมู่ของศิลปะร่วมสมัยออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ศิลปะการแสดง สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์ มัณนศิลป์ เรขศิลป์ และแฟชั่น ผู้ที่ได้รับรู้รับทราบต่างมีท่าทีอันบ่งบอกถึงความไม่คุ้นเคยกับการรวมหมู่ของศิลปะหลากสาขาเข้าด้วยกัน ในนามของศิลปะร่วมสมัยที่ภาครัฐพึงเอาใจใส่ดูแล เพราะคนส่วนมากยังยึดติดกับคำว่า ศิลปะ ที่หมายความถึง ทัศนศิลป์โดยเฉพาะทัศนศิลป์ที่เป็นวิจิตรศิลป์ (Fine Art) เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้ว ชีวิตของมนุษย์เราทุกคนต่างเกี่ยวข้องสัมผัสกับศิลปะทุกแขนงอยู่ทุกลมหายใจ ซึ่งอาจจะมากกว่าการได้สัมผัสกับทัศนศิลป์ที่เราเห็นว่าเป็นตัวแทนของศิลปะทั้งมวลเสียด้วยซ้ำ

เมื่อแรกที่มนุษย์ลืมตามาในสถานที่หนึ่ง แน่นอนว่า อาคารสถานที่เหล่านั้นคือผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่ตกแต่งภายในด้วยกลวิธีทางมัณฑนศิลป์ สัมผัสกับแฟชั่นการแต่งกายชุดแรกทันที่ที่ถูกหุ้มห่อ ถูกขานนามด้วยกระบวนการทางวรรณศิลป์ ก่อนที่จะถูกเห่กล่อมให้หลับใหลด้วยเสียงเพลง ตื่นตากับเส้นสายและสีสันของฉลากข้าวของเครื่องใช้รอบตัวไปเรื่อยจนไปถึงภาพการ์ตูนบนขวดนม รูปภาพสีสวยในหนังสือนิทานเด็ก จับจ้องภาพเคลื่อนไหวบนจอโทรทัศน์ หรืออาจจะลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้นแสดงลีลาท่าทางประกอบเมื่อได้ยินเสียงดนตรีครึ้มอกครึ้มใจ

ศิลปะแทรกซึมอยู่ในทุกปัจจัยการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งที่เป็นวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ เพราะศิลปะเป็นการปรุงแต่งเพื่อการบริโภคทางอารมณ์ที่อยู่เหนือสัญชาตญาณการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่น เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ศิลปะเป็นผลผลิตอันเกิดจากธรรมชาติจิตใจของมนุษย์ในอันที่จะแสดงออกถึงตัวตน ทัศนคติ อารมณ์ ความรู้สึกต่อตนเองและสิ่งรอบข้าง ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการนำเสนอผ่านสื่อที่หลากหลาย

 

แต่กระนั้น แม้ว่าใครจะยกย่องคุณค่าของศิลปะที่มีต่อมนุษยชาติให้สูงเลิศลอยสักเพียงใด ศิลปะก็เป็นเช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งในจักรวาล นั่นคือโดยเนื้อแท้แล้วมันก็มิได้มีคุณค่าอันใดในตัวเอง หากแต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของมนุษย์

ระดับและประเภทของสุนทรียภาพก็ถูกกะเกณฑ์ขึ้นตามรสนิยมความเห็นของมนุษย์ ซึ่งเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย ตามบริบทของสังคมที่ศิลปะนั้นถูกสร้างขึ้นและรับรู้

การดำรงอยู่ข้ามยุคสมัยของศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนเงื่อนไขความต้องการและความพึงพอใจ ทั้งในส่วนของผู้สร้างและผู้เสพ งานศิลปะที่มีความต้องการการสร้างมากกว่าความต้องการเสพไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ย่อมจะพ่ายแพ้ต่อกาลเวลาไปในที่สุด ศิลปะใดดำรงตนให้อยู่รอดได้ในยุคสมัยของตัวเอง จึงจัดว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยโดยอัตโนมัติ แต่จะเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าต่อสังคมหรือไม่อย่างไรนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประยุกต์ศิลป์และวิจิตรศิลป์

เมื่อพิจารณาศิลปะร่วมสมัย โดยแบ่งออกเป็น ประยุกต์ศิลป์ และ วิจิตรศิลป์ จะเห็นว่า การดำรงอยู่และการพัฒนาของประยุกต์ศิลป์หลายแขนงในยุคสมัยต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีลักษณะที่ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลจากความต้องการใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมถึงเหตุผลทางธุรกิจ กลไกตลสาด อุปสงค์และอุปทาน ในขณะที่งานวิจิตรศิลป์บางแขนงกำลังประสบปัญหาด้านความอยู่รอด ทั้งความอยู่รอดของศิลปินและความอยู่รอดของตัวศิลปะเอง

เงื่อนไขเชิงคุณค่า ทำให้กรอบวิวัฒนาการของประยุกต์ศิลป์กับวิจิตรศิลป์นั้นมีรูปร่างที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะประยุกต์ศิลป์ เช่น สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ แฟชั่น หรืองานศิลปะในสาขาอื่นใดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้สอย มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นตัวกำหนดรูปแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ลัทธิความเชื่อ ค่านิยม ร่วมกับปัจจัยทางภายภาพและศาสตร์อื่นๆ เช่น หลัก สรีรศาสตร์ ประชากรศาสตร์ จิตวิทยา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองการใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการสร้างสุนทรียะให้กับผู้เสพ ในขณะที่การสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจของศิลปินเป็นหลัก และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ความคิดของผู้เสพเป็นสำคัญ

หากจะตั้งสมมุติฐานว่า เหตุผลที่ทำให้ศิลปะดำรงอยู่ เพื่อจรรโลงสังคมในสถานะที่พึ่งพิงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์หรือประยุกต์ศิลป์ก็ตาม นั่นคือศิลปะนั้นจะต้องเป็นที่ต้องการหรือต้องรสนิยมของผู้เสพ ซึ่งอาจหมายถึงความต้องการทางด้านการใช้สอย หรือความต้องการทางด้านจิตใจ จึงเป็นหน้าที่ของศิลปินที่จะต้องแสวงหาความอยู่รอดของตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขความเป็นจริงต่างๆ ในสังคม ณ ยุคสมัยของตน ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ทั้งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือค่านิยมความเชื่อและความรู้ความเข้าใจของประชาชน การวางพื้นฐานการรับรู้ที่สังคมจะมีต่องานศิลปะ เพื่อให้การเปิดรับและหากมองในเชิงการตลาด ก็หมายถึงกระบวนการในการการสร้างความต้องการบริโภคให้เกิดขึ้นนั่นเอง แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเป็นดาบสองคมที่นำไปสู่ระบบการผลิตซ้ำ เพื่อให้เกิดงานที่ขายได้ อันจะส่งผลให้ศิลปินขาดแคลนแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์อันบริสุทธิ์ในการสร้างสรรค์งานซึ่งเป็นตัวทำลายคุณค่าของศิลปะในเวลาเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากศิลปินไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ งานศิลปะก็จะไม่เกิดขึ้น

จุดเปลี่ยน

ศิลปินในอดีตสร้างงานเพื่อรับใช้สถาบัน และมีสถานะเปรียบเสมือนฐานันดรพิเศษที่ถูกอุ้มชูโดยชนชั้นสูง แต่เมื่อศิลปินหยุดสร้างงานศิลปะเพื่อปัจเจกบุคคลที่เป็นชนชั้นสูงเหล่านั้น มาสู่การสร้างงานเพื่อแสดงออกถึงตัวตนและความคิดของศิลปินเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ศิลปะจะต้องอุ้มชูตัวเอง แต่ด้วยปัญหาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ยังไม่มีพื้นฐานการบริโภคศิลปะในระดับวัฒนธรรม โดยเฉพาะการบริโภคศิลปะเพื่อเป็นอาหารของจิตใจ จึงทำให้ศิลปะบางแขนงอยู่ในสภาพที่ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อความอยู่รอด

และหากมองย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดของการสร้างสรรค์ศิลปะในประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการแบ่งแยกศิลปะออกเป็นแบบประเพณีและแบบร่วมสมัย ก็จะพบว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อันเป็นช่วงเวลาที่การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในเอเชียอาคเนย์กำลังเฟื่องฟู

เพื่อเป็นการลบล้างภาพลักษณ์ป่าเถื่อน อันเป็นข้ออ้างส่วนมากในการกลืนประเทศต่างๆ ของตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำเนินกุศโลบายอันแยบคาย ด้วยการสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นในสยาม ถือเป็นการเข้ามาอย่าง “เต็มตัว” ของศิลปกรรมตะวันตกและแบ่งตัวออกจากศิลปะดั้งเดิมอย่างชัดเจน

นอกจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแล้ว รัชกาลที่ 4 ยังทรงแนะนำให้ศิลปินไทย สร้างงานตามแนวคิดทางจิตรกรรม ประติมากรรม แฟชั่น รวมถึงดนตรีตามแบบตะวันตกอีกด้วย ดังโปรดให้มีการสร้างพระที่นั่งแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรกในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระราชดำริให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกแห่งยุควาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสัดบวรนิเวศวิหารตามอย่างจิตรกรรมแนบตะวันตก โปรดให้หล่อพระบรมรูปเหมือนพระองค์เพื่อส่งไปตอบแทนพระราชไมตรีของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการสร้างรูปเหมือนบุคคลครั้งแรกของสยาม ไปจนถึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมที่ตามเสด็จประพาสแต่งกายอย่างทหารสก็อตแลนด์ เป็นต้น

“ศิลปะใหม่” ในเวลานั้น จึงกลายเป็นสินค้าต้นเค้าของศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลต่อมา จนกระทั่งหยั่งรากลงเสมือนศิลปะเพื่อความเป็นอารยะของสยามประเทศในที่สุด ก่อนจะมีการวางรากฐานครั้งใหญ่ในด้านการศึกษาและเผยแพร่ศิลปะหลังจากการเข้ามาของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา

ศิลปะแทบทุกแขนงของไทยในยุคก่อนที่จะก้าวสู่ยุคใหม่ ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางศาสนา แต่เมื่อมีศิลปะแนวใหม่ที่สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจและความคติดสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เสมือนโครงสร้างใหม่ให้กับวงการศิลปะในประเทศไทย มุมมองและวิธีคิดในการสร้างสรรค์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากแนวศิลปะแบบประเพณีนิยมเพื่อศาสนามาเป็นศิลปะของบุคคลแต่ละคน ซึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากการที่จุดหักเหดังกล่าวมีอิทธิพลของศิลปะตะวันตกเข้ามาครอบงำอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ศาสตร์และศิลป์ที่เยาวชนของชาติถูกโปรดแกรมรับรู้ผ่านการศึกษาในระบบนับตั้งแต่ปฐมวัยเรื่อยมาจนถึงระดับอุดมศึกษา ก็เป็นเพียงฐานที่ไร้รากอันเป็นภูมิปัญญาของตนเอง และถูกต่อยอดด้วยแนวคิดแบบสากลอย่างเบ็ดเสร็จในการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาที่เป็นกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ภาพยนตร์ นฤมิตรศิลป์ ทัศนศิลป์ และนาฏศิลป์ จะยกเว้นอยู่ก็เพียงวรรณศิลป์ ที่ยังไม่อาจเดินตามตะวันตกเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากลได้อย่างคล่องแคล่วนัก เพราะคุณภาพการเรียนการสอนภาษาสากลในระดับการศึกษาไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การศึกษาทั้งศาสตร์และศิลป์ สหวิทยาการต่างๆ จึงดำเนินควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้เชื่อว่า การพัฒนาตนเองให้เท่าทันตะวันตกหรือเป็นสากลคือจุดมุ่งหมายไปสู่ความเจริญ

ศิลปะร่วมสมัยในกระแสโลกเดียว

การที่โลกทั้งใบหมุนไปตามแรงเหวี่ยงของเงินทุนจากมหาอำนาจในกระแสโลกาภิวัฒน์นั้น อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นปัญหา การพิจารณาเห็นความเป็นไปได้ดังนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ต้องอาศัยความรู้เท่าทันในวิถีของทุกสรรพสิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่เที่ยง เช่นเดียนวกับสังขารของมนุษย์ การที่โลกจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นความปกติ แต่ผู้ที่จะเสียประโยชน์ เดือนร้อนหรือไม่รู้สึกชอบใจก็จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเป็นปัญหา จำเป็นต้องหาทางแก้ไขเยียวยา

การเปลี่ยนแปลงทางศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ ไม่ว่าจะเป็นไปรูปแบบใดก็อยู่ภายใต้วิถีเดียวกัน สิ่งที่เป็นบ่อเกิดของอำนาจในยุคสมัยต่างๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ผู้ที่มีอำนาจมากว่ามีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลในการครอบครองและครอบงำผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า รวมถึงการมีอิทธิพลเหนทือกว่าในทางวัฒนธรรม

การขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมอาจไม่จำเป็นต้องใช้การบังคับด้วยกำลัง แต่ใช้การชักจูงใจหรือการชี้ให้เห็นค่า เห็นดีเห็นงาม เมื่อมีผู้เห็นดีเห็นงาม การเปลี่ยนแปลงซึ่งหมายถึงการครอบครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมก็เป็นไปโดยสมัครใจไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ผู้ที่เห็นประโยชน์ในวัฒนธรรมแบบใหม่ก็จะชื่นชมยินดีกับการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ผู้เสียประโยชน์ก็จะต่อต้านและมองความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นความสูญเสีย

ในสถานการณ์ที่ทัศนะส่วนใหญ่ของโลกศิลปะกำลังเปิดรับกระแสโลกเดียว และหันมาสร้างงานศิลปะเพื่อแสดงออกถึงความเป็นพลโลก (World Citizen) อันเป็นนิยามหนึ่งของศิลปะร่วมสมัย ก็มักจะเกิดคำถามแทรกขึ้นมาเป็นระยะๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยเชื่อว่าศิลปะอาจจะเป็นเครื่องมือในการรักษาเอกราชความเป็นชาติของตนเอาไว้ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ศิลปะดดยลำพังนั้นไม่อาจรักษาอะไรเอาไว้ได้เลยแม้แต่ตัวตนของมันเอง ไม่ต่างอะไรกับสมมติฐานตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ที่เชื่อว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าคือผู้ที่จะอยู่รอด และหากการอยู่รอดของทุกสรรพสิ่งเป็นเงื่อนไขโดยทฤษฎีนี้จริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากศิลปวัฒนธรรมที่ไม่แข็งแรง จะต้องสูญสลายไปโดยธรรมชาติ
หรือมองในเชิงธุรกิจ สินค้าหรือบริการที่ไม่มีผู้ต้องการซื้อ ก็ย่อมจะสูญหายไปจากตลาด

แต่หากพิจารณาความบนความเชื่อว่า สสารไม่หายไปจากโลก ศิลปะที่ได้ชื่อว่าเสื่อม หรือสูญเสียรูปทรงกายภาพเดิมไปนั้น ก็มิเคยสูญหายตายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว (Ars Longa Vita Brevis) หากแต่จะยังคงดำรงแฝงเร้นอย่างผสมกลมกลืนอยู่กับฐานข้อมูลเก่าเก็บในรอยหยักสมองของศิลปินตามแต่ชนชาติและวัฒนธรรม ซึ่งรายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ในระบบฐานข้อมูลหรืออาจจะเป็นระดับจิตใต้สำนึกดังกล่าวนี้ จะถูกหล่อหลอมกลายเป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการสร้างงานใหม่ๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าศิลปินจะตระหนักถึงการมีอยู่ของมันหรือไม่ก็ตาม

วิเคราะห์สถานการณ์ศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทย

ต่อคำถามที่ว่า ศิลปะร่วมสมัยได้ทำการอันใดกับสังคมบ้าง นอกเหนือไปจากการสะท้อนภาพปัจจุบันของสังคมในแง่มุมต่างๆ และทำหน้าที่หล่อหลอมสังคมในเวลาเดียวกัน คำตอบที่ได้ย่อมหลากหลาย แตกต่างกันไปตามประเภทสาขาของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรีจากโทรศัพท์มือถือ จากอุปกรณ์ดิจิตอล หรือจากวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ทุกสิ่งย่อมมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจผู้ฟังทั้งด้วยจังหวะ ทำนอง เนื้อหา อันนำไปสู่การตอบสนองและอารมณ์ที่คล้อยตามในรูปแบบที่คาดไม่ถึง เช่นเดียวกับภาพยนตร์ ละครหลังข่าว หนังโฆษณา ละครเวที ภาพกราฟฟิกที่ปรากฏอยู่ในทุกแห่งหนแม้ต่ในความฝัน อาคารสถานที่ บ้านพักอาศัย ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน หนังสือตำราเรียน วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ข้อเขียนในเว็บไซต์ ที่ส่งผลทางด้านทัศนคติ ค่านิยมของผู้อ่าน เรื่อยไปถึงแฟชั่นการแต่งกาย อย่าวไรก็ดีความแตกต่างหลากหลายทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมก็จะได้ข้อสรุปของสถานการณ์ของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยออกมาได้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยปรากฏให้เห็นถึงความพยายามมที่จะขับเคลื่อนตัวเองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ดังนี้

  1. ความพยายามที่จะปรับตัวเองให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกระแสหลักที่เชื่อว่าเป็นภาพรวมของโลกไร้พรมแดน
  2. ความพยายามที่จะแสวงหาหรือสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตัวเอง จากรากเหง้าเดิม แต่มีความเป็นปัจจุบันในด้านวิธีคิดและกลวิธีในการนำเสนอ
  3. ความพยายามที่จะสะท้อนความเป็นจริงของสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาของตัวเองออกมาให้มากที่สุด โดยในบางครั้งอาจไม่นำพาต่อกลไกทางสุนทรียภาพ ด้วยความเชื่อว่า ความจริงคือความงาม
  4. ความพยายามยัดเยียดความจริงอันอัปลักษณ์สู่การรับรู้ของสังคมในนามของศิลปะที่ขาดแคลนสุนทรียะ โดยเรียกว่าการยกระดับภูมิปัญญา
  5. ความพยายามที่จะยกระดับตัวเองให้เทียบเท่าผู้ที่เชื่อว่าสูงกว่า เจริญกว่าในระดับนานาชาติ ทุกวิถีทางโดยตระหนักถึงความเป็นจริงหรือคุณค่าที่แท้จริงของตนเองและผู้อื่น
  6. ความพยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตน ให้สอดรับกับรสนิยมการบริโภคกระแสหลักที่เป็นระดับนานาชาติ โดยพิจารณาศิลปะในฐานะที่เป็นต้นทุนหรือทรัพย์สินทางปัญญา บนพื้นบานความเชื่อว่า ศิลปะจะเป็นเครื่องสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐิจ
  7. ความพยายามที่จะชำระตัวเองให้บริสุทธิ์และสูงส่ง จนสามารถใช้เป็นเบ้าหลอมเพื่อสร้างสังคมในอุดมคติให้เกิดขึ้น บนพื้นฐานความเชื่อว่า ศิลปะคือผลผลิตของอารยชน มีพันธกิจต่อสังคม และในขณะเดียวกัน ศิลปะก็เป็นปัจจัยการผลิตอารยชนรุ่นใหม่สืบเนื่องกันต่อไป

สรุป

มนุษย์กับศิลปะเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ความดีความเลวของมนุษย์หรือสังคมนั้นดำเนินคู่กันมากับความเจริญและความเสื่อมของทุกสรรพสิ่ง ไม่เพียงแค่ความเจริญและความเสื่อมของศิลปวัฒนธรรม แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือของโลกไม่ว่าจะเกิดในทิศทางใดเป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่นเดียวกับการดับของโลก เมื่อถึงเวลาต้องดับก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ และศิลปะก็เป็นเพียงสิ่งเล็กจ้อยในสังคมโลกที่ไม่อาจหนีกฎเกณฑ์นี้ไปได้ ความเจริญทางอารยธรรมของยุคกรีก โรมัน และยุตเรอเนสซองส์ ก็เป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นว่า การเกิดและดับเป็นวงจรที่เกิดขึ้นอย่างถาวรและสม่ำเสมอ เสมือนเส้นกราฟที่มีการพุ่งขึ้นลงสลับกัน แต่หากลองหันมามองเส้นกราฟนั้นในแนวแกนอื่นดูบ้าง ก็จะพบว่าเป็นเพียงเส้นสายต่อเนื่องในแนวราบที่เลี้ยวลดสลับไปมา เพื่อดำเนินไปสู่จุดหมายหนึ่งที่ไม่มีใครล่วงรู้
ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในกระแสโลกาภิวัตน์ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันต่อวิถีชีวิต แนวคิด ค่านิยม ของผู้คนในสังคม เพราะศิลปะเกิดจากคน เมื่อคนเปลี่ยนศิลปะก็เปลี่ยนตาม โลกาภิวัตน์จึงมีผลโดยตรงต่อวิธีคิดและเทคนิค กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะทุกแขนง และเมื่อศิลปะนั้นถูกสร้างขึ้นแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องหล่อหลอมผู้คนในสังคมต่อเนื่องกันไปอีก เป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด
หากศิลปะจะเป็นเครื่องมือในการจรรโลงความดีงามของสังคมให้อยู่รอด กับศิลปะที่กำลังรอคอยให้สังคมยื่นมือเข้ามาดูแลความอยู่รอดของตัวเองนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ความพยายามที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างแท้จริง น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการดำรงอยู่เหนือกาลของศิลปะทุกแขนงและทุกสรรพสิ่ง

Self-sufficient Art / ศิลปะพึ่งตนเอง
บทความโดย วณิศา อดัมส์
จากวารสารสยามร่วมสมัย ฉบับที่ 9

You may also like...