ปรากฏการณ์ใหม่ของวงการจิตรกรรมไทย โดย กำจร สุนพงษ์ศรี
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน มีพิธีเปิด นิทรรศการผลงานจิตรกรรมของชมรมจิตรกรสมัครเล่น ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ ตรีนิตี้เพลส หลังสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด งานนี้จะแสดงไปจนถึงสิ้นเดือนเดียวกัน
ในงานมีผลงานของจิตรกรสมัครเล่นเชื้อเชิญ 12 ท่าน กับ จิตรกรสมัครเล่น 22 ท่าน มีผลงานทั้งหมดร่วม 250 ภาพ ถ้าจะกล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการจิตรกรรมบ้านเราก็คงได้ เพราะเป็นงานที่มีจิตรกรสมัครเล่นส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในปริมาณมากทั้งจำนวนผลงานและบุคคล ฟังเผินๆก็อาจไม่สะกิดใจหรือเห็นความสำคัญอะไรมากนัก แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีก็อาจจะเห็นว่า นี่คือการขยายแวดวงแห่งความรักความสนใจในศิลปกรรมออกไปสู่มหาชนที่เป็นรูปธรรมกว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เดิมบทบาทในการสร้างและการแสดงรวมไปถึงความเคลื่อนไหวนานาประการ ล้วนเกิดขึ้นอยู่ในแวดวงของจิตรกรอาชีพ จนทำให้ดูเหมือนว่า มีการผูกขาดความรับผิดชอบอยู่ในบุคคลเพียงจำนวนน้อย พวกเขาต่างพากันพูดจาเอออวยกันเอง ด่ากัน เสียดสี เยาะเย้ย หรือยกย่องกันในหมู่ในกลุ่มเล็กๆน้อย เท่านั้น ก็รู้ๆกันอยู่ว่างานศิลปะเป็นสมบัติส่วนกลาง เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น รังสรรค์ขึ้น เพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ถ้าหากนิยมหรือรับรู้กันในวงแคบก็กลายเป็นศิลปะของกลุ่ม หากขยายตัวออกไปก็กลายเป็นระดับท้องถิ่น จากระดับท้องถิ่นเติบโตไปเป็นภูมิภาค เป็นระดับชาติและนานาชาติตามลำดับ ระดับชั้นต่างๆเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ศิลปะนั้นๆเป็นที่ยอมรับของจำนวนมหาชนได้มากน้อยเพียงไร
ศิลปกรรมเป็นสมบัติที่เจ้าของไม่หวงแหนพร้อมที่จะขยายแวดวงแห่งความชื่นชมออกไปให้กว้างใหญ่ไพศาลให้มากที่สุด ยิ่งมีคนชอบ คนชื่นชมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ผิดกับสมบัติแบบอื่นๆที่ต้องหวงแหนปกป้องและคอยระแวดระวังไม่ให้คนอื่นมารับรู้หรือมาชื่นชม เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่คนไทยเริ่มหันมาสนใจการวาดภาพในรูปแบบของงานอดิเรก งานนันทนาการหรืองานที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพโดยตรง ย่อมก่อให้เกิดผลดีทั้งผู้กระทำและสังคมโดยตรง ที่ว่าก่อให้เกิดผลดีต่อตัวผู้กระทำก็คือ ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสับสน ทั้งไวและรุนแรงในเกือบทุกด้าน จนสร้าง ” ความเครียด” ให้แก่บุคคลอย่างถ้วนหน้า พวกที่อยู่ในระดับการหาทางออกแบบต่ำๆ ก็เข้าหาการระบายความกดดัน “ความเครียด” ด้วยการใช้ยาเสพติด เขยิบขึ้นมาอีกก็เรื่องของกามารมณ์และการพนัน และสูงที่สุดก็คือการใช้ศิลปะและวิชาความรู้อื่นๆเป็นเครื่องระบาย การหางานอดิเรกด้วยการวาดภาพ จึงให้คุณประโยชน์ทั้งในด้านการผ่อนคลายความเครียดระบายสิ่งต่างๆเหล่านั้นออกมาในรูปของภาพ แสดงความสามารถส่วนตัวให้ประจักษ์ อีกทั้งวงการแพทย์ยอมรับว่า เป็นการเสริมสร้างสมาธิและสร้างสรรค์ความคิดริเริ่มได้อย่างดี ส่วนที่ไปมีผลกระทบโดยตรงต่อสังคมนั้นคงไม่จำเป็นต้องมองในแง่มุมที่ว่า เมื่อคนในสังคมมีคุณภาพสังคมนั้นๆ ย่อมดีอย่างแน่นอนหากต้องการให้เห็นจุดเด่นที่ปรากฏอยู่ในรูปของศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไม่ต้องมองเพียงแค่วงการจิตรกรรมหรอก หากสามารถพิจารณาไปสู่วงการดนตรีและวงการวรรณกรรมด้วยก็ได้ พลังส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและพัฒนาของศิลปะทุกวงการ เกิดจากความคิดและฝีมือของพวกสมัครเล่นพวกเขาไม่เคยผ่านสถาบันการศึกษาโดยตรง หากเกิดจากความรักเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ งานศิลปะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนเอาการ เรียนจบอักษรศาสตร์ก็ใช่ว่าจะเป็นกวีหรือนักประพันธ์กันได้ จบจิตรกรรมก็ไม่ง่ายนักที่จะเป็นจิตรกรระดับศิลปินอย่างง่ายดายเสมอไปนัก
ในวงการจิตรกรรมสากล พัฒนาการของวงการส่วนหนึ่งเกิดจากการจุดประกายของ จิตรกรสมัครเล่นด้วยกัน ฟินเซ็นต์ ฟานก็อก ( Vincent van Gogh ) โกแกง ( Paul Gauguin ) และ เซซาน ( Paul Cezanne) นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการสนับสนุนข้อเริ่มต้นจากการเป็นจิตรกรสมัครเล่นมาก่อน ฟาน ก็อก กว่าจะเข้ามาสู่วงการ อายุอานามก็ย่างเข้า 30 ปี ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพียง 7 ปี ก็อัตวินิบาตกรรมเหลือผลงานราว 600 ภาพ แต่ละภาพในปัจจุบันราคาแพงลิบลิ่ว โกแกง เองก็เริ่มชีวิตจิตรกรเมื่ออายุมากแล้วเช่นกัน เซซาน ยอมให้บิดาซึ่งตัดออกจากกองมรดกเป็นเพียงเพื่อมาวาดภาพ ผลกระทบจากงานจิตรกรทั้งสาม เช่น ฟาน ก็อก ก่อให้เกิดแนวทางการสำแดงพลังอารมณ์ทางจิตวิทยาอย่างกว้างขวาง โกแกงได้เปิดมิติใหม่ในด้านการใช้สี ส่วน เซซาน นั้นได้ให้ทัศนะในการมองโลกธรรมชาติด้วยการวิเคราะห์หาสภาพสัจธรรมที่มีอยู่และเป็นจริง ที่กล่าวเล่ามา ไม่ใช่ว่าศิลปิน อาชีพไร้ค่าไร้ความหมายแต่ประการใด หากต้องการย้ำให้เห็นว่ากลุ่มสมัครเล่นก็สามารถมีบทบาทสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรม เช่นกัน ยิ่งพวกผู้อพยพรุ่นแรกของอเมริกาที่มุ่งหน้าสู่อาณาจักรใหม่ ดินแดนที่พวกเขามุ่งมั่นสร้างให้เป็นดินแดนแห่งความหวังใหม่ของมนุษยชาติ ต่างคนต่างมุ่งไปสู่ดินแดนใหม่เดียวกัน ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ และต่างเงื่อนไขทางศิลปวัฒนธรรม ในกลุ่มชนอันหลากหลายนี้ มีผู้ที่รักและชื่นชอบในศิลปกรรมแฝงอยู่ด้วย พวกเขาวาดภาพ ปั้น แกะสลักงานประติมากรรม แต่งบทกวี เขียนนวนิยายและสร้างสรรค์ดนตรีการ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดจากน้ำมือและความคิดของ “พวกสมัครเล่น” ทั้งสิ้น แต่สิ่งเหล่านี้แหละได้กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของสหรัฐอเมริกาไปในที่สุด
การแสดงของชมรมจิตรกรสมัครเล่นที่กำลังแสดงตัวในการกล่าวนำมาแล้วนั้น เราน่าที่จะพิจารณาดูทั้งตัวบุคคลและผลงานพอสังเขป การแสดงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มจิตรกรรับเชิญหรือเชื้อเชิญ กับกลุ่มของสมาชิกชมรม หลายคนคงคาดไม่ถึงว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมหลายท่านได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งสร้างงานจิตรกรรมด้วยใจรัก อย่างเช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยของไทย ได้แสดงอารมณ์ในแนวจินตนิยมต่อธรรมชาติ ท่านได้สะท้อนให้เห็นความประทับใจต่อคลื่นทะเลที่กำลังม้วนตัวอย่างอ้อยอิ่งเข้าสู่ฝั่ง ฟองคลื่นต้องแสงจันทร์เป็นประกายพร่าพราย เป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่งนัก คุณหญิง อัมภา สุรการบรรณสิทธิ์ ปัจจุบันอายุอานามท่านก็ย่างเข้า 80 เศษแล้ว ได้นำผลงานที่มีอายุกว่า 60 ปี ออกร่วมแสดงเป็นการลบคำสบประมาทของชายที่คิดว่าหญิงไทยไม่ค่อยมีบทบาทในวงการจิตรกรรม จากผลงานของท่านยืนยันได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถสูงมากผู้หนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ขาดการแสดงต่อมหาชนจึงกลายเป็นดุจเพชรในตม ภาพ “เพื่อนยาก” เป็นรูปสุนัขสองตัวกำลังนอนเล่นใต้ร่มเงาไม้ กับภาพ “หนาว” เป็นภาพทิวทัศน์ของบ้านสีแดงที่ปกคลุมด้วยหิมะ เคียงข้างด้วยต้นไม้ที่สลัดใบชูกิ่งก้านเป็นสีดำตัดกับท้องฟ้าสีคราม ทั้งสองภาพเป็นฝีมือของ คุณหญิงสาวิตรี ศรีวิศาลวาจา โอสถานุเคราะห์ ผู้ชมงานหลายคนไม่เชื่อว่าเป็นจิตรกรสมัครเล่น เพราะท่วงทีการใช้เส้นและสี เต็มไปด้วยพลังความแคล่วคล่องราวกับจิตรกรอาชีพผู้ช่ำชอง … …. ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างของจิตรกรสมัครเล่นเชื้อเชิญซึ่งนอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่านด้วยกัน อาทิเช่น คุณทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี คุณจรัล มโนเพ็ชร คุณนคร ถนอมทรัพย์ และคุณทัศนีพร หงสเวส ผู้วาดภาพแบบจีนได้เฉียบขาดนัก
ในกลุ่มสมาชิกของชมรมที่มีผลงานมาร่วมแสดงด้วยจำนวนมากนั้น คงยากที่ไม่กล่าวถึงผลงานของ คุณหญิง มาลี พ.สนิทวงศ์ ผู้เป็นประธานของชมรมไม่ได้ จิตรกรท่านนี้ ในสังคมไทยอาจรู้จักท่านในแง่มุมต่างๆกัน บางคนก็รู้ว่าเคยได้ตำแหน่งนักบริหารดีเด่น เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นผู้รักในงานดนตรี เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภูมิหลังบางประการ แต่เท่าที่นำผลงานออกมาแสดงอยู่นั้น มันได้แสดงในหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูจะนอกเหนือกว่าที่คนหลายคนรู้จักกัน เป็นภาพสะท้อนถึงผู้รู้ผู้เข้าใจในความงามของมวลหมู่ดอกไม้ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น หากยังจำลองสิ่งที่รู้ที่เข้าใจออกเป็นภาพได้อย่างบรรเจิด ความนุ่มนวล อ่อนหวาน และเปราะบางที่ปรากฏอยู่สามารถพบเห็นได้ทั่วทั้งภาพ เป็นสายตาของผู้หญิงโดยแท้ที่จะมองเห็นความงามเช่นนี้ได้ … … คุณเมธ์วดี นวพันธ์ ผู้บริหารระดับสูง … … เธอเล่าให้ฟังว่า ใช้เวลาวาดภาพตอนเย็นหลังจากเสร็จธุรกิจการงาน การวาดภาพถือว่าเป็นการพักผ่อน แต่ผู้ชมอาจรู้สึกว่าภาพผลงานของเธอไม่ได้ช่วยให้เกิดการพักผ่อนแต่ประการใดเพราะมันเต็มไปด้วยการสำแดงพลังอารมณ์ออกมาอย่างอิสระเสรี สีแต่ละสีที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางเคียงข้างกัน หรือการป้ายลงอย่างหนักแน่นลงบนผืนผ้าใบ ล้วนพาอารมณ์ของผู้ชมไปพบกับความกล้าหาญตรงไปตรงมา เป็นความงามที่เด่นชัดไม่ใช่แบบแฝงเร้นแต่ประการใด คุณศรีสุภางค์ อินทร์ไทร นับเป็นจิตรกรสมัครเล่นผู้มีฝีมือและจินตนาการมากผู้หนึ่งของชมรม ผลงานของเธอมักปรากฏ สี แสงและเงา ให้อ้อยอิ่งราวกับลำนำของกวีนิพนธ์ ซึ่งเธอก็ชอบที่จะอธิบายภาพด้วยบทกวีที่แต่งขึ้นเองประกอบเป็นดุจกวีที่ไร้ตัวอักษร แต่หากประกอบกันทั้งสองภาพและตัวอักษรอยู่ในงานเดียวกัน … … ดอกหญ้า ป่าทึบ สายฝนซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ล้วนมีความงาม มีคุณค่าในตัวของมันเองที่น่าสนใจยิ่ง แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่บรรดาจิตรกรอาชีพมักละเลย ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร คุณศิวพร หิรัญรัตน์ กลับเลือกมาสร้างสรรค์โดยได้สะท้อนแสดงถึงความสนใจ ความประทับใจที่มีต่อสิ่งเหล่านั้นออกมาให้เห็นได้อย่างเหลือเชื่อ เป็นภาพที่ปรากฏอย่างสง่างามเสียด้วย คุณผ่องศรี พฤติภิญโญ ได้นำผลงานร่วมแสดงหลายภาพ แต่ละภาพล้วนสะท้อนถึงท่วงทีการเอางานของเธอ ภาพป่าและภาพมวลหมู่ดอกไม้แสดงพลังแห่งการแสดงออกได้ดียิ่งราวกับการแสดงออกของชาย
นั่นเป็นเพียงการเกริ่นกล่าวถึงบางประการของการแสดงจิตรกรรมของชมรมจิตรกรสมัครเล่นครั้งที่ 1 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เช่น คุณสายจรัส ศิลป์จารุ … คุณเพ็ญทิพ กฤษณะปัณณะ คุณนงลักษณ์ ภิญโญชนม์ ฯลฯ … แต่ละคนล้วนนำความรักใน ” ความทรงจำ” ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาและพวกเธอเคยมีอยู่ในวัยเด็ก นั่นคือความรักในศิลปะให้หวนกลับคืนมาเมื่อมีโอกาส อนึ่ง มโนทัศน์เกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะในสมัยปัจจุบันนั้น บัดนี้ได้แยกออกเป็นสองแนวทางคือ 1. ผู้สร้างงานคือผู้มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว เช่นศิลปินอาชีพ 2. ผู้สร้างงานคือคนทั่วไปที่มีความรักในศิลปะเป็นพื้นฐาน สามารถศึกษาและฝึกฝนการเรียนรู้การสร้างงานด้วยตนเองได้ ถ้ามีความสมบูรณ์พร้อมกันทั้งสองแนวทางและทั้งสองกลุ่ม เมื่อนั้นวงการศิลปะคงพัฒนาไพบูลย์อย่างแน่นอน
ที่มา: กำจร สุนพงษ์ศรี. “ปรากฏการณ์ใหม่ของวงการณ์จิตรกรรมไทย.” มาตุภูมิรายสัปดาห์. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2699 /45 ( พฤศจิกายน-ธันวาคม 2534). ไม่ปรากฏเลขหน้า