การเดินทางของภาพถ่าย

ภาพถ่ายก็เหมือนโลกจำลองที่กาลเวลาหยุดนิ่งอยู่ คนในโลกที่กาลเวลายังทำหน้าที่ตามปรกติจึงได้เรียนรู้อดีต แต่ภาพถ่ายขาวดำมีความหมายยิ่งกว่านั้น เพราะคืออดีตที่ไร้สิ่งแต่งแต้ม เหลือไว้เพียงแสง เงา และความเป็นจริงของอดีต เท่านั้นเอง : Thomas Pfister


มนุษย์พยายามสร้างกล้องถ่ายภาพมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 11 แล้ว แต่กล้องที่สามารถนำติดตัวไปไหนต่อไหนและถ่ายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2382 (ค.ศ.1839) เมื่อ Jacques Mande Daguerre และ William hery Fox Talbot ซึ่งเคยทำงานกับนิเอปเช่ ประดิษฐ์วิธีการถ่ายภาพใหม่ เรียกว่า ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) โดยใช้โลหะเงินบนแผ่นทองแดงในการถ่ายภาพ ซึ่งดารแกร์พบว่า เมื่อนำเงินมาอังด้วยไอของไอโอดีนก่อนใช้ถ่ายภาพ แล้วนำไปอังด้วยไอปรอท จะได้ภาพออกมา

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นไม่นานในปี พ.ศ. 2368 (ค.ศ.1825) Nic?phore Ni?pce ค้นพบการถ่ายภาพเป็นครั้งแรก โดยใช้ยางมะตอยจูเดีย (bitumen of Judea) เป็นวัตถุดิบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2368  (ค.ศ.1840) William hery Fox Talbot ประดิษฐ์กล้องคาโลไทป์ (Calotype) โดยการชุบกระดาษด้วยซิลเวอร์คลอไรด์ เพื่อทำภาพเนกาทิฟ แล้วนำมาใช้ทำพอชิทิฟได้ เป็นวิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2404  (ค.ศ.1861) James Clerk Maxwell จะค้นพบการถ่ายภาพสีได้เป็นครั้งแรก

ดังนั้นคำว่า Photography จึงเกิดมาจากการผสมคำกรีกสองคำ คือ คำว่า phos ซึ่งแปลว่า แสง กับคำว่า graphis ซึ่งแปลว่า การเขียน เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายตรงตัวว่า “การวาดภาพด้วยแสง” นั่นเอง โดยกระบวนการแล้ว การถ่ายภาพก็คือ การบันทึกเหตุการณ์ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยการเก็บสภาพแสง ณ เวลานั้นไว้บนวัตถุไวแสง ผ่านอุปกรณ์รับแสงที่เรียกว่ากล้องถ่ายรูป หลังจากนั้นจะสามารถเปลี่ยนสภาพแสงเหล่านั้นกลับมาเป็นภาพได้อีกครั้งหนึ่ง ผ่านกระบวนการล้างอัดภาพ

สำหรับในประเทศไทย ความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศเป็นจุดกำเนิดของวิทยาการอันล้ำสมัยมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมผู้คนตะวันตกรวมถึงการถ่ายภาพด้วยวารสาร “สยามประเภท” ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2444 เขียนไว้ว่า กล้องถ่ายภาพเดินทางเข้าสู่สยามในราวรัชกาลที่ 3 โดยการสั่งซื้อของสังฆราช จอห์น ปับติส ปาเลอกัว อัครสังฆราชแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกประจำกรุงสยาม ผู้ที่สังฆราชปาเลอกัวสั่งซื้อกล้องถ่ายรูป และเป็นผู้นำกล้องถ่ายรูปอันแรกเข้ามาในประเทศไทยนั้น คือ บาทหลวงหลุยส์ ลาโนดีร์ (L’Abbe Larnaudie)ซึ่งเดินทางเข้ามาสยามเมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2388 เขาเป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีความรู้แตกฉานในวิชาการช่าง, ฟิสิกซ์, วิทยาศาสตร์และเคมี จนสามารถประดิษฐ์เครื่องจักร, เครื่องกลและทำการชุบโลหะด้วยตัวเองได้ หลังจากเข้ามาได้ไม่ถึงปี เขาได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการฉายพระรูปเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงในราชสำนักรัชกาลที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2388 นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศไทยและถือเป็นภาพถ่ายบุคคลชาวสยามชุดแรกของโลกอีกด้วย

หลังจากศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีกับสังฆราชปาเลอกัวอยู่นาน ในที่สุดเขาจึงได้บวชเป็นบาทหลวงกับสังฆราชองค์นั้น เชื่อกันว่าเขาเองก็ตอบแทนความรู้ของสังฆราชด้วยการสอนวิทยาการการถ่ายภาพให้ พร้อมคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง อันประกอบไปด้วย พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) ต้นตระกูลอมาตยกุล, หลวงอัคนีนฤมิตร (จิต) ต้นตระกูลจิตราคนีและพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) แม้ว่าจะมีการยอมรับกันว่าสังฆราชปาเลอกัวเป็นช่างถ่ายภาพคนแรกของไทย แต่จากหลักฐานที่ปรากฎแล้ว บาทหลวงลาโนดีร์ น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับตำแหน่งนั้นมากกว่า

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีเจ้านายและข้าราชการนิยมการถ่ายภาพมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการอวดรูปและจัดงานประชันรูปในงานฉลองวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในปี  พ.ศ. 2450 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เอง ทรงมีกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์มากมาย และในจำนวนนั้นมี “กล้องโกแด็กอย่างโปสตก๊าด” ซึ่งเป็นกล้องที่ถ่ายโดยใช้ฟิลม์ จึงอนุมานได้ว่าฟิลม์เซลลูลอยด์นั้น ได้เข้ามาเมืองไทยประมาณ  พ.ศ. 2448

เทคโนโลยีสำหรับการถ่ายภาพในปัจจุบันเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก จากยุคสีขาวดำสู่ยุคแห่งสีสันซึ่งคมชัดและรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆทว่าภาพขาวดำกลับไม่เคยตาย แต่ยังเป็นที่นิยมในการสร้างสรรค์และ เสพ อยู่เสมอ จำนวนศิลปินนักถ่ายภาพที่มีชื่อเสียงนั้น เกือบครึ่งหนึ่งพิสมัยแสงและเงาในภาพขาวดำ และกว่าครึ่งของจำนวนนั้นไม่สนใจภาพสีเลย

TEXT : สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ

You may also like...